เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศถูกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินำไปใช้เพื่อกระทำผิดกฎหมายบั่นทอนความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนในความผิดของขบวนการต่าง ๆ เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด แก๊งคอลเซนเตอร์ และขบวนการมิจฉาชีพทุกรูปแบบ สร้างความเสียหายทางสังคมความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนและทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนับแสนล้านบาท โดยที่ผ่านมามีการระดมกวาดล้างขบวนการอาชญากรข้ามชาติครั้งใหญ่ในพื้นที่จังหวัดหนองคายมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง
จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีสะพานมิตรภาพตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นสะพานที่สร้างขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดสะพานแห่งนี้
กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ภายใต้การนำของ พล.ต.ต.พิรัชย์ อุดมพิสุทธิคุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์โดยหลังจากได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายได้ปรับปรุงเปลี่ยนภูมิทัศน์ที่ห้องโถงทางขึ้นกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายให้เป็นสถานที่สักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในปีมหามงคล 6 รอบ 72 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพพระราชกรณียกิจของล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดหนองคาย
นอกจากนี้ ในการรักษาความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชนทุกคน เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์) พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชนทั้งสองประเทศจากขบวนการค้ายาเสพติดและมิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายได้ทำการจับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม จำนวน 1 ราย สัญชาติเวียดนาม พร้อมของกลาง เครื่องซิมบล็อก 12 เครื่อง , ซิมโทรศัพท์ 2,000 ซิม, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 7 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 เครื่อง และทางตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายได้ปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดและสร้างความตระหนักของภาคประชาชนให้ตื่นสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์และมิจฉาชีพทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป
พล.ต.ต.พิรัชย์ อุดมพิสุทธิคุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ได้ยกระดับคุณภาพการทำสำนวนการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดรายสำคัญ โดยตั้งในรูปองค์คณะที่มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.และเจ้าหน้าที่ บก.สืบสวนภาค 4 ร่วมเป็นองค์คณะด้วยนอกจากนี้ ได้ยกระดับด่านหนองสองห้องเป็นด่านตรวจสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติดและของหนีภาษี โดยให้ตั้งด่านตรวจทุกวันประกอบกำลังทั้งงานป้องกันปราบปรามและงานสืบสวน ชุด cover ใช้ M4 จำนวน 2 กระบอก เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติ ด่านตรวจสกัดกั้นยาเสพติดเหลื่อมเวลาของแต่สถานีตำรวจก็เช่นกัน และยังได้เห็นความสำคัญของภาคประชาชนจึงได้จัดรายการ “ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายพบประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองคาย คลื่น FM 90.50 เมกะเฮิร์ต ทุกวันจันทร์ เวลา 08.30-09.00 น. โดยประชาชนคนไทยและพลเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสามารถรับฟังแนวคิดแนวทางฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายและต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยรวมส่งผลอันดีไปยังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พล.ต.ต.พิรัชย์ อุดมพิสุทธิคุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย จึงได้นำคณะทำงานโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชน ในฐานะที่ปรึกษากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายและนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ ผู้กำกับการ หัวหน้าสถานีตำรวจทุกสถานี เข้าคารวะและแนะนำตัวอย่างเป็นทางการต่อ พลจัตวา ดร.บัวผัน ฟองมะนี กรรมการประจำพรรค, หัวหน้ากองบัญชาการ ป้องกันความสงบนครหลวงเวียงจันทน์ โดยได้รับความมีไมตรีจิตอย่างสมเกียรติยิ่งจาก พลจัตวา ดร.บัวผัน ฟองมะนี นำผู้นำหน่วยของตำรวจที่อยู่ตามแนวชายแดนระหว่างไทย-ลาว แนะนำตัวกระชับความสัมพันธ์อันดีต่อกันเห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทั้งปัญหายาเสพติดและอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพจัดการถอนรากถอนโคนขบวนการยาเสพติดและขบวนการมิจฉาชีพตามแนวชายแดนไทย-ลาว
ในการนี้ ท่านพลจัตวา ดร.บัวผัน ฟองมะนี ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด และขบวนการมิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์โดยให้ความสนใจต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประชาชนที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานชุดสนับสนุนข้อมูลการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ได้นำเรียน ท่านพลจัตวา ดร.บัวผัน ฟองมะนี และคณะนายตำรวจระดับสูง แห่งนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทราบถึงสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาและแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยมีวิธีบริหารจัดการกับกลุ่มเป้าหมายใน 3 แนวทางได้แก่ (1) การจัดการกับกลุ่มมิจฉาชีพขั้นเด็ดขาดทั้งการตัดไฟแต่ต้นลมการจัดการกับเครือข่ายบัญชีม้าและอื่น ๆ (2) การสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติและภาคีเครือข่ายเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอื่น ๆ (3) การเสริมสร้างความตระหนักในความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประชาชนทั่วไป นักธุรกิจ นักลงทุนภาคเอกชน และอื่นๆ น่าจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการและภารกิจงานตำรวจระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ พล.ต.ต.พิรัชย์ อุดมพิสุทธิคุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย ยังคงตระหนักดีว่า นโยบายรัฐบาลทุกรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปฏิบัติการระดับพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายจำเป็นต้องสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันมุ่งสู่เป้าหมายภายใต้การสนับสนุนของท่านผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 และท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงความร่วมแรงร่วมใจของตำรวจทุกนาย องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเพื่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยของประชาชนและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป