สมการการเมือง
น่าจะเป็นห้วงเวลาที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี เข้าตาจนเข้าอย่างจังถึง เลือกที่จะเข้ารับคำปรึกษาจาก ‘วิษณุ เครืองาม’ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ในพรรคเพื่อไทยเอง หรือในรัฐบาล ก็มีมือกฎหมายที่มีความสามารถเดินชนไหล่กันเต็มไปหมด
เอาเข้าจริงๆ นายวิษณุ ก็ไม่ได้ใช่คนอื่นคนไกลของพรรคเพื่อไทย เพราะเคยยอมละทิ้งตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ให้กับรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก่อนที่จะแยกย้ายกันไปด้วยผลของการรัฐประหารในปี 2549
ดังนั้น หากจะบอกว่า ‘ทักษิณ’ เป็นคนหนึ่งที่ยกระดับให้อาจารย์วิษณุเป็นมือกฎหมายชั้นครู ที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะต้องขอพึ่งความสามารถก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา ที่ขอแรงอาจารย์วิษณุ เข้ามาทำหน้าที่นี้ถึงสองรอบ
ถึงกระนั้นหากจะบอกว่า ‘ทักษิณ’ เป็นคนหนึ่งที่อาจารย์วิษณุเกรงใจ แล้วใครจะไปคิด สตรีนางพญาการเมืองอย่าง ‘คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร’ ภรรยาของทักษิณ จะเป็นอีกคนหนึ่งที่คนพายเรือแป๊ะคนนี้จะเกรงใจเช่นกัน
โดยอาจารย์วิษณุได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ในคืนยะเยือก 7 ขุนพลทักษิณใต้ปฏิบัติการ ลับ ลวง พราง” ตอนหนึ่งว่า “กับคุณหญิงพจมาน ผมก็ไม่คุ้น แต่ท่านเป็นคนมีน้ำใจ เวลาเจอผมท่าน จะถามถึงลูก ถึงภริยา เช่น ลูกเรียนไปถึงไหน จะกลับ
มาทำอะไร หรือช่วงที่ภริยาผมไปผ่าตัด ท่านก็มาถามว่า ผ่าที่ไหน หาหมออะไร มีหมอคนหนึ่งอ้อรู้จัก วันหลังแนะนำให้ไหม คนอื่นไม่เคยมาคุยกับผมเรื่องอย่างนี้”
“แต่สิ่งที่ผมประทับใจท่าน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว คือ ท่านเป็นคนไม่แสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ในยามที่ไม่จำเป็นต้องแสดง ปกติท่านจะพูดว่า “เหรอคะ จะเอาอย่างไรก็เอา” แต่ยามใดที่ต้องแสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ซึ่งเราเป็นคนไม่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว เพราะเกรงใจ แต่ท่านไม่เกรงใจ ท่านแสดงไปเลยว่า เป็นอย่างนี้ วันนั้นท่านพูดกลางวงประชุมว่า “ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดกันตรงๆ ดีกว่า คุณจะเอาอย่างไรกันแน่” ไอ้คำพูดอย่างนี้ ตั้งแต่ผมเกิดมาผมไม่เคยพูด ผมเองตกใจอกสั่นขวัญแขวนไปเลย แต่นี่คือ ลีดเดอร์ชิป” อาจารย์วิษณุบรรยายถึงความเป็นคุณหญิงพจมาน
ดังนั้น หากจะบอกว่าอาจารย์วิษณุ กับครอบครัวชินวัตร ไม่ใช่คนอื่นคนไกลก็คงไม่ผิดอะไร การกลับเข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาลในตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากของการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมาย โดย
เฉพาะในมิติกฎหมายมหาชน ด้านเศรษฐกิจ ที่ในประเทศไทยมีคนที่มีความรู้ชั้นอ๋อง ที่พอจะเป็นหลังพิงสำหรับงานใหญ่ระดับรัฐบาล แทบจะนับหัวได้
ปัจจุบันเอง รัฐบาลไม่ได้มีคนที่ถูกเรียกว่าเป็นมือกฎหมายให้กับรัฐบาลเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้เวลารัฐบาลจะทำอะไรก็ดูจะติดขัดไปหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของแหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า จะใช้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร ผ่านพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่
หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จำเป็นต้องใช้คนคุยภาษาเดียวกัน มาเป็นโซ่ข้อกลาง เพื่อให้รัฐบาลทำงานเดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องระแวงว่าทำอะไรไปแล้วจะเสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่
ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้เอง ทำให้อาจารย์วิษณุที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วเกษียณอีก ต้องถูกขอแรงให้มาทำงานให้กับรัฐบาลอีกครั้ง ส่วนจะนำพารัฐบาลไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั้น อนาคตจะเป็นผู้ให้คำตอบ.