xs
xsm
sm
md
lg

"เศรษฐา" กล่าวปราศรัยงาน AIC 2024 ที่ฮ่องกง ย้ำความพร้อมของไทยเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ร่วมงาน UBS Asian Investment Conference (AIC) 2024 ที่ฮ่องกง เน้นย้ำไทยพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ความพร้อมของไทย เชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพื่อความสำเร็จร่วมกัน

วันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.45 น. (เวลาท้องถิ่นฮ่องกง) ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรม Four Seasons เขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน UBS Asian Investment Conference (AIC) 2024 งานรวมตัวของภาคธุรกิจ นักลงทุนจากสถาบันการเงินทั่วโลก และบุคคลที่มีชื่อเสียงในภาคธุรกิจ มากกว่า 2,000 ราย รวมทั้งบริษัทในเอเชียแปซิฟิก 300 แห่ง ซึ่งได้มาหารือกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการค้า การลงทุน ในภาคต่าง ๆ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Wisdom: An eye on the past, a view to the future” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ที่นำภูมิปัญญา หรือ Wisdom จากประสบการณ์ในอดีต มาเป็นแนวทางในการรับมือกับความท้าทาย และกำหนดอนาคตของประเทศไทย โดยความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ไทยผ่านพ้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซับซ้อน และสามารถคว้าโอกาสที่ช่วยประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงวิสัยทัศน์ต่ออนาคตของประเทศไทย


ส่วนของการกำหนดนโยบาย เป้าหมายของรัฐบาล คือ การสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมีแนวทางในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลัง การปฏิรูปกฎระเบียบ และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในสาขาที่สำคัญ อาทิ ไทยปรับปรุงมาตรการด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ขจัดอุปสรรคด้านขั้นตอนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านธุรกิจและการเติบโตของผู้ประกอบการ รวมทั้งลดความซับซ้อนในการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างชาติ พัฒนาระบบ Super License สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดข้อจำกัดการนำเข้าและส่งออก และการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

นโยบายทางการเงินการคลังที่สำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 1.5% และคาดการณ์ทั้งปีจะอยู่ที่ 2-3% รัฐบาลจึงมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการเติบโตเศรษฐกิจของไทยให้สูงขึ้นผ่านการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท (275 ดอลลาร์สหรัฐ)ให้คนไทย 50 ล้านคน ซึ่งจะช่วยอัดฉีดเงินกว่า 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และจะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2 - 1.8% และด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้เงินจะลงไปถึงชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจเล็ก ๆ ทำให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานระบบการชำระเงินแบบบล็อกเชนทั่วประเทศ พร้อมด้วยการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และการลงทุนจากต่างประเทศที่มากขึ้น


ด้านนโยบายการค้า รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับ Supply Chain ทั่วโลก โดยดำเนินการลดข้อจำกัดการนำเข้า-ส่งออก เร่งการเจรจา FTA กับเขตเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่า การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่มีความคืบหน้าและคาดว่าจะลงนามความตกลงได้ภายในปี 2568

ด้านการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลกำลังสร้างกลไกในการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ควบคู่กับการส่งเสริมธุรกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังปรับปรุง ease of doing business กฎระเบียบและการแปลงบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัล และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน และโครงการ Landbridge


ด้านการพัฒนามนุษย์ รัฐบาลพร้อมเสริมสร้างบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการส่งเสริมการศึกษา ทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้กับเยาวชนตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงมีหลักสูตรในการปรับทักษะทางวิชาชีพสำหรับแรงงานที่มีอยู่ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างชาติ ด้วยการปรับปรุงการออกใบอนุญาตทำงานและกระบวนการขอวีซ่า และเสนอสิทธิประโยชน์ เพื่อเติมเต็มช่องว่างด้านแรงงานที่มีทักษะ

ด้านการส่งเสริมความยั่งยืน ไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านการปรับปรุงเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ในขณะที่เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ net-zero ภายในปี 2065 ซึ่งในปี 2040 ไทยจะกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาค โดย 50% ของไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดมาร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งในปีนี้รัฐบาลมีแนวทางที่จะใช้เงินทุนจำนวนเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3 หมื่นล้านบาท) ในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และเน้นย้ำถึงความยั่งยืนทางการเงินและการคลัง ซึ่งไทยยังคงรักษาระดับหนี้สาธารณะและการขาดดุลทางการคลังอยู่ในขอบเขตที่จัดการได้ และด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ ไทยจะยังคงรักษาการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ทั้ง 8 วิสัยทัศน์ ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางที่ครอบคลุมทั้งด้าน 1. การบิน ซึ่งไทยจะอัพเกรดสนามบินที่มีอยู่และสร้างสนามบินเพิ่มเติม เพื่อให้บริการมากขึ้นและเป็นทางเลือกของการคมนาคม 2. การท่องเที่ยว ซึ่งปีหน้าจะเป็นปีสำคัญของการท่องเที่ยวไทย รัฐบาลอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อจัดกิจกรรมระดับโลกจัดที่ประเทศไทย อาทิ Art Basel และ Formula 1 3. การรักษาพยาบาลและสุขภาพ 4. การเกษตรและอาหาร 5. การขนส่ง 6. การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. เศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. ศูนย์กลางทางการเงิน โดยนายกรัฐมนตรีประกาศว่า ต้องการทําให้ประเทศไทยเป็น "สถานที่ที่น่าอยู่" เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของบริษัททางการเงิน ซึ่งเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ ด้วยการสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล ประกอบกับศักยภาพของประเทศไทย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าวิสัยทัศน์นี้อยู่ใกล้แค่เอื้อม

โดยนายกรัฐมนตรีที่เชิญชวนทุกคนร่วมการเดินทางในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล บวกกับศักยภาพของประเทศไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการเติบโต นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และครอบคลุมร่วม เพื่อประโยชน์ และความสำเร็จร่วมกัน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังประกาศถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกคน เพื่อมุ่งให้บรรลุความสำเร็จร่วมกัน และเน้นย้ำความพร้อมสู่การเปิดประตูต้อนรับการลงทุนในประเทศไทยจากต่างชาติ








กำลังโหลดความคิดเห็น