xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การมีกฎหมายที่ดี  มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสถานการณ์ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมายังมีอุปสรรคหลายประการที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งการมีกฎหมายมากเกินความจำเป็น หรือกฎหมายล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) ประเด็นที่ ๖ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ การยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย และให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของประชาชน


สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายการให้ความเห็นทางกฎหมาย และการพัฒนากฎหมาย จึงตราพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๒เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการจัดทำหรือพัฒนากฎหมาย ซึ่งการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย คือ กระบวนการทบทวนกฎหมาย เพื่อแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายหากหมดความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันหลักของการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายคือการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ว่าได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายนั้นมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชนหรือไม่ หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่เพียงใดโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายนั้น ๆต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องประกอบการประเมินฯเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทุกฉบับด้วย


ประโยชน์ที่ได้จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ได้แก่
​​๑.มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น โดยให้ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
​​๒.มีการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ
​​๓.ลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันของกฎหมาย
​​๔.ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
​​๕.เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
​​๖.การปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการรับฟังความคิดเห็น​

บทบาทของสำนักงานฯในการขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
สำนักงานฯในฐานะเจ้าภาพตัวชี้วัดด้านการพัฒนากฎหมายหรือยกเลิกกฎหมาย ในแผนแม่บทด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจึงมีภารกิจในการติดตามผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมาย และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับดำเนินการทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยที่ผ่านมามีกฎหมายที่ได้รับการประเมินผลสัมฤทธิ์แล้วไม่น้อยกว่า ๑๖๔ ฉบับเช่นพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานก.พ.ร.ซึ่งผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รองรับการให้บริการของภาครัฐให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น