xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านหลักการมาตรการแนวทางอำนวยความสะดวกตรวจลงตรา กระตุ้นศก.การท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการในการดำเนินมาตรการและแนวทางการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะ

วันนี้ (28พ.ค.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการในการดำเนินมาตรการและแนวทางการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้ง 3 ระยะ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมิได้มีการปรับปรุงมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรามาเป็นระยะเวลา 22 ปีแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์โลกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ส่วนมากได้เริ่มดำเนินการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราที่ กต. เสนอทั้งหมด 3 ระยะ สรุปได้ดังนี้

1.) มาตรการระยะสั้น (ประกอบด้วย 5 มาตรการ เริ่มใช้เดือนมิถุนายน 2567) ได้แก่
1.1 การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ ผ.60 จะคำนึงถึงหลักประติบัติต่างตอบแทน มิติด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และพันธกรณีที่ไทยได้ทำความตกลงทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี จำนวน 93 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วย (1) ประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และ (2) เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน
1.2 การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย และหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สิทธิ VOA จะคำนึงถึงหลักประติบัติต่างตอบแทนมิติการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติด้านความมั่นคง มิติด้านการท่องเที่ยว มิติด้านเศรษฐกิจ และการไม่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น
1.3 เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยมีนายจ้างและลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและใช้บริการทางการแพทย์ แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราที่รองรับคนต่างด้าวกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
1.4 การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ
1.5 ควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย

2.) มาตรการระยะกลาง (ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้เดือนกันยายน – เดือนธันวาคม 2567) ได้แก่
1. จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567
2. ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567
3 ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ปัจจุบัน กต. ให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567

3.) มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการและแนวทางที่เสนอในครั้งนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่นำรูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรามาเป็นมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนี้
1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา การตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองการตรวจลงตราประเภทใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวของรัฐบาล
2. กลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่น ๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีศักยภาพเหล่านี้อาจพิจารณาประกอบธุรกิจในไทยในระยะยาว ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์รวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในไทย ช่วยสร้างและกระจายรายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น
3 สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567

โดย กต. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และ 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สรุปได้ดังนี้
- การกำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วันเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 93 สัญชาติ จะสูญเสียรายได้เเผ่นดินประมาณ 12,300 ล้านบาทต่อปี (เทียบเคียงจากจำนวนนักท่องเที่ยว 93 สัญชาติ ปี 2566) แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival (VOA) จำนวน 4.5 ล้านคน (4,000 ล้านบาท) ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (TR) จำนวน 3,300 ล้านบาท
- ในกรณีของการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก (Re-Entry Permit) ที่นักศึกษาต้องไปยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้งก่อนเดินทางออกนอกประเทศไทย คาดการณ์ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้แผ่นดินประมาณ 152 ล้านบาท จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยในปี 2566 ประมาณ 40,000 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น