xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯปาฐกถาสมัชชาอนามัยโลก ชูประกันสุขภาพดูแลทุกด้าน ยกระดับ 30 บ.รักษาทุกที่ด้วยบัตรปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เศรษฐา" ปาฐกถาสมัชชาอนามัยโลก ชี้สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ชูประกันสุขภาพความภูมิใจของไทย ตัวอย่างระบบดูแลครอบคลุมทุกด้าน ย้ำสิทธิสากลไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รัฐกำลังยกระดับสู่ “30 บ.รักษาทุกที่ ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว”
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.55 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครเจนีวา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 77 (the 77th World Health Assembly) ผ่านระบบวีดิทัศน์ โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุมฯ ในปีนี้ว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของเราทุกคน (All for Health, Health for all)” ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ในขณะที่รายได้ประชาชาติของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร ซึ่งปัจจัยสำคัญไม่ใช่เพียงแค่ตัวเงิน แต่เป็นความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 โดยในแรกเริ่ม ครอบคลุมเพียงหนึ่งในสามของประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งอีก 25 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2544 ประเทศไทยตัดสินใจที่จะขยายความครอบคลุมไปสู่คนไทยทุกคน จวบจนถึงปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้ผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ท่าน จากหลากหลายภูมิหลังทางการเมือง ความมุ่งมั่นทางสังคมที่เข้มแข็งและความเป็นเจ้าของของประชาชน เป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกรัฐบาลรักษาคำมั่นสัญญาต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกด้าน ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ไปจนถึงการดูแลระยะยาวและการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงที่จำเป็น เช่น การบำบัดทดแทนไต การรักษามะเร็งแบบครบวงจร การปลูกถ่ายอวัยวะ และการใส่รากฟันเทียม

โดยแน่นอนว่า ข้อกังวลทางการเงินมักจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่เสมอ ซึ่ง ดร.จิม ยอง คิม อดีตประธานธนาคารโลก ได้กล่าวในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อ พ.ศ. 2556 ว่า "ประเทศไทยเปิดตัวโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ท้าทายข้อกังวลจากธนาคารโลกในประเด็นข้อจำกัดด้านงบประมาณ ผู้นำของประเทศไทยไม่ได้รับฟังและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างกล้าหาญ ทุกวันนี้โลกเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทย" ซึ่งการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ประชาชนทุกคนลงทะเบียนและได้รับบริการสุขภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าเมื่อจำเป็น

ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังมุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยหลังจากเปิดตัวได้ 4 เดือน นโยบายนี้ได้ครอบคลุมร้อยละ 60 ของจังหวัดในประเทศไทย และจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งยังรวมถึงนวัตกรรมบริการปฐมภูมิ ครอบคลุมการรับบริการที่ร้านขายยา คลินิกการแพทย์แผนไทย กายภาพบำบัดที่บ้าน บริการที่จำเป็นในคลินิกทันตกรรมเอกชน และบริการการแพทย์ทางไกล โดยบริการเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลารอคอยได้ถึงร้อยละ 50 และคาดว่าอีกไม่นานความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะลดลงเช่นกัน รวมไปถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลสุขภาพที่สำคัญของผู้ป่วยระหว่างผู้ให้บริการทุกราย

นอกจากความมุ่งมั่นจากรัฐบาลแล้ว ความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจากทุกฝ่าย รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทยด้วย ซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดในเมืองหลวงของเรา ปี พ.ศ. 2563 โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงก็รวมตัวกันเพื่อดูแลและควบคุมการระบาดในเมืองหลวงที่เพิ่มสูงขึ้น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมากกว่าหนึ่งล้านคน ช่วยค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายใหม่ และแยกออกจากผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หัวใจของการดูแลสุขภาพไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายและแผนงานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกันของเรา ในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลที่จำเป็นเพื่อให้เขามีชีวิตที่มีสุขภาพดีอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ใด ซึ่งในประเทศไทย เราได้เห็นพลังของความมุ่งมั่น ความสามัคคี และนวัตกรรม ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจร่วมกัน เราสามารถเอาชนะอุปสรรคใด ๆ ที่เข้ามาได้ พร้อมเน้นย้ำว่า เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถสร้างโลกที่สุขภาพเป็นสิทธิสากล ที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเจริญเติบโตได้ จึงขอให้ลุกขึ้นสู้กับความท้าทายนี้ ด้วยความกล้าหาญและความเชื่อมั่น เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น