xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สมัคร ส.ว.ส่งทนายฟ้องศาล ปค.เพิกถอนกติกาเลือก ส.ว.ชี้ขัด รธน. เปิดช่องเอื้อคนมีพวกมีเงินฮั้วจัดตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายธีรยุทธ” รับมอบอำนาจผู้สมัคร ส.ว. ฟ้องศาล ปค.เพิกถอนกติกาเลือก ส.ว. ชี้ขัด รธน. เปิดช่องเอื้อคนมีพวก มีเงินมีตังค์ฮั้วจัดตั้ง เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรม

วันนี้ (21 พ.ค.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.วิเดือน งามปลั่ง ผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 91 ข้อ 3 ข้อ 6 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว. ฉบับที่ 2 พ.ศ 2567 ข้อ 8 และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาระงับใช้ระเบียบดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2561 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 42 ตัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ด้วย

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ที่ต้องมายื่นฟ้องเนื่องจากเห็นว่าระเบียบทั้ง 3 ฉบับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่ได้วางหลักการสำคัญไว้ว่า การเลือกกันเองของ ส.ว.จะต้องมีมาตรการที่ทำให้การเลือก ส.ว.มีความสุจริต เที่ยงธรรมในทุกระดับ ป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้ว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเน้นให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะเข้ารับสมัคร จึงต้องไม่มีค่าใช้จ่ายเกินกำลังของบุคคลทั่วๆ ไป ซึ่งตนมองว่าค่าสมัครคนละ 2,500 บาท นั้นสูงเกินไป นอกจากนี้ ในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิ์สมัครสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ทั้งนี้ มองว่า ระเบียบทั้ง 3 ฉบับ ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร สามารถช่วยผู้สมัครในการแนะนำตัว จะทำให้เกิดการแทรกแซง ครอบงำ จากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือก ทำให้เกิดความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.ด้วยกัน การให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีกำลังทรัพย์ กำลังคน เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก สามารถใช้กลไกเหล่านี้สร้างความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ กับผู้สมัคร ส.ว.รายอื่น และการที่ระเบียบเปิดช่องให้ผู้สมัครไม่ต้องลงคะแนนให้ตัวเอง จะทำให้เกิดการรับจ้างลงสมัครเพียงเพื่อจะได้มีเสียงโหวต จากกลุ่มผู้สมัครที่จัดตั้งขึ้น หรือกลุ่มผู้สมัครนั้นอาจจะมีพฤติกรรมชี้นำ ครอบงำ ชักจูง สั่งการหรือสมยอมให้มีการเลือกเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ทำให้การเลือก ส.ว. เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่ร้องขอ


กำลังโหลดความคิดเห็น