xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับรายงานการพิจารณาศึกษา การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวล กม.แรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา


วันนี้ (21 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ได้ศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 13 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พระราชบัญญิแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ไว้ในฉบับเดียวกัน และคงหลักการสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ตามเดิม เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน
1.1 รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นระบบ และนำบัญชีท้ายพระราชบัญญัติตามกฎหมายเดิมมาจัดทำเป็นบัญชีท้ายประมวลกฎหมายแรงงานให้ครบถ้วน รวมถึงดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนในทางนิติบัญญัติต่อไป โดยรัฐบาลให้ความสำคัญ รวมทั้งเร่งรัดการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
1.2 ควรมีการทบทวนการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะสมได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่วางหลักการสำหรับการตรากฎหมายของรัฐว่า ให้ถึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรงเท่านั้น
1.3 ควรมีการทบทวนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานว่ามีส่วนใดของกฎหมายที่ต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแรงงานที่จะจัดทำขึ้นใหม่หรือมีประเด็นใดที่ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นต้น

2. ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงาน พ.ศ. ...
2.1 บทบัญญัติในส่วนวันบังคับใช้กฎหมายของประมวลกฎหมายแรงงาน ควรกำหนดใน
รูปแบบให้ผ่านช่วงเวลาหนึ่งไปก่อนจึงให้ประมวลกฎหมายแรงงานมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาหลักกฎหมายและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ของประมวลกฎหมายแรงงาน
2.2 ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานจำนวน 13 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น
2.3 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเชื่อมโยงการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านการบังคับใช้กฎหมายเก่าไปสู่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน
2.4 หลักการอื่นๆ ตามที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าจำเป็นและสมควรระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแรงงาน พ.ศ. ... ตามรูปแบบของการ่างกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น