ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “ธนาธร” เปิดตัวบ้าน “ปรีดี” ปลุก “สามนิ้ว” เต็มพิกัด โวเอาคืนฝ่ายปฏิปักษ์ 2475 ที่พยายามด้อยค่า
เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อย สำหรับบ้านพัก “ปรีดี พนมยงค์” ที่ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ใช้เงินจำนวน 1.6 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 63 ล้านบาท ซื้อมาจากเจ้าของเดิมซึ่งเป็นคนฝรั่งเศสเชื้อสายเวียดนาม เมื่อเดือนก.พ.67 และ “ธนาธร” ได้ยกคณะเดินทางไปจัดงานเปิดตัวเมื่อเวลาประมาณบ่าย 2 โมง ของวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น
บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ที่เมืองอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2492 ได้ไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านหลังหนี้ ก่อนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี 2526
ภายในงานเปิดตัว “บ้านปรีดี” กลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณของขบวนการ “3 นิ้ว” ต่างมาปรากฏตัวกันพร้อมหน้า นอกจากตัว “เสี่ยเอก ธนาธร” เองแล้ว ยังมี ปิยบุตร แสงกนกกุล “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า รวมไปถึง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการรุ่นอาวุโส ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่หนีคดีไปอยู่ฝรั่งเศส นานหลายปีแล้ว
ในเมื่อเป็นงานระดับผู้นำขบวนการแล้ว ก่อนเริ่มงาน สิ่งที่พลาดไม่ได้คือการยืนไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” เป็นเวลา 1 นาที
จากนั้น “ธนาธร” ได้กล่าวเปิดบ้าน โดยร่ายยาวถึงเหตุผลของการควักเงินภรรยา มาซื้อบ้านหลังนี้ ว่า เหตุผลหลักไม่ใช่เพื่ออดีต แต่เป็นเพื่ออนาคต
หลักใหญ่ใจความ “ธนาธร” บอกว่า จนวันนี้ 92 ปี ภารกิจ 2475 ยังไม่จบสิ้น นั่นคือ ภารกิจแห่งการสถาปนาประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค ความเท่าเทียม ยังไม่เป็นจริง
“ธนาธร” บอกอีกว่า ในวันนี้ ในทางกลับกัน ฝ่ายปฏิปักษ์กับ 2475 กำลังจะลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม และต้องการด้อยค่า “ปรีดี พนมยงค์” นั่นจึงเป็นเวลาของพวกเราที่จะต้องทำให้ประชาชนจดจำและตระหนักถึงคุณค่าของ 2475
“ธนาธร” ยังอ้างอีกว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ปรีดี พนมยงค์” ที่ตรงนี้ นอกจากประวัติของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องรำลึก แต่ยังมีบุคคลอีกมากมายที่ถูกรัฐไทยทำร้าย และทำลายเพราะพวกเขาไม่ยอมรับ “เรื่องเล่าหลักของประเทศ” เพราะพวกเขาไม่ยอมรับความคิดชี้นำของรัฐ จึงถูกทำร้ายและทำลายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเนรเทศออกไปนอกประเทศ อย่างในกรณีของปรีดี การลอบสังหาร 4 รัฐมนตรี การอุ้มหายกรณี “หะยีสุหรง” จนถึงกรณี “วันเฉลิม”
รวมถึงกรณีการใช้กฎหมายทำลายผู้เห็นต่าง ตั้งแต่ “อากง” จนถึง “บุ้ง เนติพร”
“ดังนั้น ที่แห่งนี้จึงเป็นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของผู้ที่ไม่ยอมจำนน ของผู้ที่แข็งขัน เรียกร้องสังคมที่ดีกว่าของคนรุ่นต่อไป เป็นสถานที่ที่บันทึกความเลวร้ายของรัฐไทย ที่กระทำต่อผู้เห็นต่าง ที่กระทำต่อผู้ไม่ยอมรับเรื่องเล่าหลักของประเทศ
“และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม ผมถึงซื้อบ้านหลังนี้ เป็นการซื้อบ้านหลังนี้เพื่อปกป้องควารมทรงจำ เพื่อปกป้องคุณค่า และเพื่อถ่ายทอดความความทรงจำและคุณค่าเหล่านี้เพื่อให้คนรุ่นต่อไป” เสี่ยเอก ธนาธร กล่าวอ้างอย่างสวยหรู ทำเอาบรรดาสาวกสามนิ้ว อินจนน้ำหูน้ำตาไหลไปตามๆกัน
แต่ถ้าคนที่มีใจเป็นกลาง และรู้ประวัติศาสตร์มาบ้าง ก็จะเห็นว่า คำกล่าวเปิดบ้าน “ปรีดี” ของ “ธนาธร” มันย้อนแย้ง กัดหางกันเองอยู่หลายจุด
“ธนาธร” ซื้อบ้านหลังนี้เพื่อเชิดชู “ปรีดี พนมยงค์” ในฐานะผู้นำเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยย้อนไปถึงภารกิจของคณะราษฎร ที่ประกาศไว้ เมื่อ 92 ปีก่อน
แต่ลืมไปแล้วหรือว่า “ปรีดี พนมยงค์” ได้ยอมรับความผิดพลาดของ 2475 ไว้แล้ว ผ่านการให้สัมภาษณ์ นิตยสารเอเชียวีก เมื่อปลายปี 2522 ว่า ตอนที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอายุเพียง 25 ปี ยังขาดประสบการณ์ แม้ได้รับปริญญา แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี และประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศมาคำนึงด้วย ไม่ได้ติดต่อกับประชาชนมากพอ ความรู้ทั้งหมดเป็นความรู้ตามหนังสือ ไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ควร
เมื่อ“ปรีดี” ยอมรับความผิดพลาดของ 2475 ขนาดนี้ “ธนาธร” ยังจะทุ่มทุนสานต่อไปเพื่ออะไร?
อีกประเด็นที่อ้างว่า บ้านหลังนี้ เขาไม่ได้ซื้อไว้เพียงเพื่อรำลึกถึง “ปรีดี พนมยงค์” คนเดียว แต่ยังเพื่อรำลึกถึงบุคคลอีกมากมายที่ถูกรัฐไทยทำร้าย และทำลายเพราะพวกเขาไม่ยอมรับ “เรื่องเล่าหลักของประเทศ” เพราะพวกเขาไม่ยอมรับความคิดชี้นำของรัฐ จึงถูกทำร้ายและทำลายด้วยวิธีการต่างๆ
คำว่า “เรื่องเล่าหลักของประเทศ” หมายถึงอะไร “ธนาธร” น่าจะพูดให้ชัด จะได้เคลียร์กันไปว่า เป็นวาทกรรมประเภท “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” หรือไม่
และเอาเข้าจริงแล้ว ใครที่พอได้อ่านประวัติศาสตร์ก็พอจะรู้ว่า “ปรีดี พนมยงค์” ไม่น่าจะใช่บุคคลที่ถูกรัฐไทยทำร้าย ตามความหมายที่ “ธนาธร” เอาไปเปรียบเทียบกับ “หะยีสุหรง” ที่ถูกอุ้มหายใน จ.ปัตตานีเมื่อ 70 ปีก่อน หรือกรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ที่หายตัวไประหว่างที่หนีคดีไปอยู่กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อปี 2563
“ปรีดี พนมยงค์” เป็นคนที่เคยกุมอำนาจรัฐมาก่อน เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่มีความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” จนถูกยึดอำนาจ และไม่สามารถช่วงชิงอำนาจกลับคืนมาได้ จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จนวาระสุดท้ายของชีวิต
ท้ายที่สุดแล้ว คำกล่าวเปิดบ้าน “ปรีดี” ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การหยิบเอา 2475 มาปลุกม็อบสามนิ้วอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างถึงการสานต่อภารกิจสถาปนาประชาธิปไตย อ้างถึงผู้ถูกกระทำโดยรัฐ ซึ่งก็จังหวะบังเอิญพอดีตรงกับการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง”
รวมทั้งเป็นการเอาคืนแอนิเมชั่น “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” ไปในตัว หลังจากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ที่เผยแพร่ทางออนไลน์มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยให้ภาพ “ปรีดี พนมยงค์” ออกไปในทางลบ
เงิน 63 ล้านบาท จากทรัพย์สินที่ “ธนาธร” เคยแจ้ง ป.ป.ช. ว่ามี 5,600 ล้านบาท ที่เอามาซื้อบ้านหลังนี้ จึงนับว่าคุ้มทีเดียว!
** ถึงจุดเปลี่ยนการเมืองหาก “เศรษฐา” ถูกศาลฯสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีกำลังออนทัวร์ต่างประเทศ มีกำหนดกลับถึงไทยวันที่ 24 พ.ค.นี้
แต่วันที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ น่าจะมีเรื่องให้นายกฯ ต้องลุ้นระทึก หลังจาก 40 สว. เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ส่งเรื่องให้ ศาลรธน. วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “เศรษฐา ทวีสิน” และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของ “พิชิต ชื่นบาน” เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรธน.มาตรา 170 (4) และ (5)
ประเด็นที่ว่าด้วย... ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณี นายกฯนำชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณสมบัติ การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของ “พิชิต ชื่นบาน” มาจากกรณี “พิชิต” เป็นทนายความให้ “ทักษิณ ชินวัตร” และทีมทนายความ ได้นำถุงบรรจุเงิน 2 ล้านบาท ไปให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51
ผลจากเรื่องนี้ “พิชิต” ถูกศาลฎีกาตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจ และถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปี 2551 และ ยังถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความด้วย
ก่อนการนำชื่อ “พิชิต” ขึ้นทูลเกล้าฯเป็นรัฐมนตรี กระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจว่า ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คำตอบที่ได้รับ มั่นใจว่าไม่มีปัญหา
คำถามที่ถามไปนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับ มาตรา 98(7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบที่ได้รับ เป็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรธน. เป็นบทบัญญัติที่กําหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ของบุคคลซึ่งจะมาดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า
รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 98 ซึ่ง มาตรา 98 (7) กําหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”
ดังนั้น การได้รับโทษจําคุกไม่ว่าโดยคําพิพากษา หรือคําสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจําคุกในความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจําคุกในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รธน.บัญญัติไว้
ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรธน. บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว ไม่รวมถึง คําสั่งให้จําคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก
จากความเห็นของกฤษฎีกาดังกล่าว ถือว่า “พิชิต ชื่นบาน” ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากการถูกสั่งจำคุก 6 เดือนนั้น ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล แต่เป็นคำสั่งศาล ฐานละเมิดอำนาจศาล และได้พ้นโทษจำคุกมาเกิน 10 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของหนังสือที่ตอบมา ระบุว่า ข้อหารือเกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรธน. อันเป็นหน้าที่ และอํานาจของศาลรธน. ที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อม เป็นหน้าที่ และอํานาจของศาลรธน. การให้ความเห็นของกฤษฎีกาในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
แต่ ประเด็นที่ 40 สว.ยื่นร้องต่อศาลรธน. วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “เศรษฐา ทวีสิน”และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของ “พิชิต ชื่นบาน” ครั้งนี้ อ้างเหตุมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัด รธน. มาตรา 170(4) ประกอบ มาตรา 160(4) และ (5) ... ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง!!
พฤติกรรมวาง “ถุงขนม” ถูกจำคุก 6 เดือน แถมถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ นั้นผู้รู้กฎหมายเห็นว่า เข้าข่ายขัด รธน.ในข้อที่ยกมา
จึงต้องลุ้นระทึกว่า เรื่องนี้จะเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาว่า จะรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยหรือไม่
และหากศาลฯ รับเรื่องไว้พิจารณา ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะมีคำสั่งให้ นายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือไม่
น่าสนใจว่า หาก“เศรษฐา” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะเกิดอะไรตามาบ้าง เพราะคนที่จะมานั่งรักษาการนายกฯ คือ รองนายกฯ คนที่ 1 “ภูมิธรรม เวชยชัย”
และหากถึงที่สุด ศาลรธน. มีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็เท่ากับต้องโละทั้งครม. ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เจ้าของพรรคตัวจริง จะกล้าดัน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะครั้งนี้ การโหวตนายกฯ ไม่ต้องใช้เสียง สว.แล้ว
จะว่าไปแล้วคนวงในรู้กันดีว่า ใครคือผู้ที่ผลักดันให้ “พิชิต ชื่นบาน” เข้ามารับตำแหน่รัฐมนตรี โดยที่ “เศรษฐา” ก็ปฏิเสธไม่ได้
หากถึงที่สุด คำตัดสินของศาลรธน. ออกมาในทางที่ไม่เป็นคุณกับรัฐบาล ภาษาการเมืองบอกว่างานนี้ “เศรษฐา-พิชิต” ตายน้ำตื้น !!