xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง400บ.ด่านหิน ไม่ตรงปกระวังเจ๊ง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - พิพัฒน์ รัชกิจประการ
เมืองไทย 360 องศา

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล และพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แม้ว่าเป้าหมายคือวันละ 600 บาท แต่พวกเขาก็ระบุว่า “ภายใน” 4 ปี แต่เอาเป็นว่า แค่วันละ 400 บาท ตอนนี้ยังส่อเค้าลำบากแล้ว เพราะมีเสียงคัดค้านอย่างแข็งขัน และเป็นเอกภาพของฝ่ายนายจ้าง หรือผู้ประกอบการทั่วประเทศ พร้อมทั้งขู่ว่า หากยังดึงดันขึ้นค่าแรงดังกล่าวพวกเขาก็จะใช้วิธีฟ้องศาล

แม้ว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ทางฝ่ายรัฐบาลโดย นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุได้รับทราบ “ความคืบหน้า” การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน และตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

ฟังดูเผินๆ เหมือนกับว่าการขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท จะมีผลบังคับใช้ไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกันทั่วประเทศแน่นอน แต่ช้าก่อน เพราะมันยังเป็นแค่เริ่มต้น เป็นแค่การรับทราบตามข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล และเชื่อว่ารวมถึงฝ่ายลูกจ้างที่ต้องสนับสนุนกับหลักการนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาของฝ่ายนายจ้างแล้ว ยังรวมตัวกันคัดค้านอย่างถึงที่สุด ทำให้ทุกอย่างมันไม่ง่าย และที่สำคัญการพิจารณาการการปรับขึ้นค่าแรง ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ “ไตรภาคี” ที่ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ลูกจ้าง และนายจ้าง

ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลมีการประกาศไปแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ โดยดีเดย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป แม้ว่าในภายหลังทาง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะแถลงประมาณว่า “ทยอยปรับ” ขึ้นก็ตาม แต่ชาวบ้านก็เข้าใจไปแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ต้องได้ค่าแรงวันละ 400 บาท แน่นอน

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากยังยืนยันที่จะขึ้น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะกระทบ เช่น เอสเอ็มอี ค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสด แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็นสิบล้านคน ที่ต้องใช้เวลาปรับตัว แต่หากธุรกิจใดที่พร้อมก็ค่อยๆปรับไป โดยเฉพาะกับสมาคมค้าปลีกตลาดสดที่บอกว่า ถ้าวันนี้ขึ้น 400 บาท เจ้าของธุรกิจนี้กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ และการยื่นหนังสือครั้งนี้ ที่หอการค้าจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมกัน รวมถึงสมาคมการค้า 92 สมาคม ที่ประกอบด้วยเจ้าของโรงงานผู้ประกอบการกว่า 1.5 หมื่นบริษัท ที่ยื่นพร้อมกัน

“โดยสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีตามระบบกลไกไตรภาคี ที่มีการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต และความสามารถของธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด” ดร.ชนินทร์ ระบุ

ตัวแทนภาคเอกชนกล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจว่าการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายรัฐบาล แต่ทางภาคเอกชนก็ย้ำว่า การปรับขึ้นมีกลไกการปรับขึ้น ควรคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย เพราะต้องยอมรับว่า แม้หลังผ่านวิกฤตโควิด แต่หลายธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวดี และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ ปรับมาแล้ว 2 ครั้ง คือ 1 ม.ค. 67 และ 13 เม.ย. 67 หากจะปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ มองว่าไม่สมเหตุสมผลในช่วงเวลา ตามดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยินดีจะให้ความร่วมมือ ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อทั้งกิจการผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่ได้

ขณะที่ความเห็นของฝ่ายลูกจ้าง ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ค. กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. เข้ายื่นหนังสือต่อ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน สนับสนุนให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ โดยนำสินค้า อาหาร และพืชผัก ที่ใช้ในชีวิตประจำวันติดป้ายราคามากองไว้ พร้อมประกาศว่า ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศ ค่าจ้างจึงต้องปรับอัตราเดียวกันทั้งประเทศ

พวกเขาบอกว่า การที่มีกลุ่มทุนผู้ประกอบการออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ความมั่งคั่งของพวกเขา หรือการที่มาอ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น แม้ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานจะยังไม่ขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นไปแล้ว แล้วถ้าไม่ปรับค่าจ้างผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้อย่างไร หรืออ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประโยชน์จะตกแก่แรงงานข้ามชาติ

“ในความเป็นจริง แรงงานข้ามชาติมีสัดส่วนน้อยมาก เพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้นที่มาทำงานในประเทศไทย แต่แรงงานไทยจำนวนกว่า 41 ล้านคน และจำนวนมากที่ยังคงรับค่าจ้างขั้นต่ำ บางอาชีพก็ไม่มีหลักประกันรายได้ กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง เช่น แรงงานนอกระบบ คนงานไรเดอร์ แม้กระทั่งลูกจ้างภาครัฐ ที่จ้างโดยหน่วยงานราชการ เกือบทุกกระทรวงที่ยังคงรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน กลุ่มทุน ผู้ประกอบการที่เขาเดือดร้อน เพียงเพราะกำไร ความมั่งคั่งเขาลดลง หรือกับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นคนบริโภค จ่ายภาษีก้อนใหญ่ให้แก่รัฐ” หนังสือระบุ

อย่างที่บอกเอาไว้ก็คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกครั้งต้องผ่านมาหารือร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี นั่นคือฝ่ายรัฐบาล ลูกจ้าง และนายจ้างผู้ประกอบการ พิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ จนออกมาเป็นมติร่วมกันว่าจะขึ้นได้จำนวนเท่าไร ไม่ใช่ว่าฝ่ายไหนจะกำหนดเอาเองได้ ที่สำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนายจ้างด้วย เพราะเป็นฝ่ายจ่ายค่าแรง ไม่ใช่รัฐบาล

เมื่อพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายนายจ้าง ที่คัดค้านสุดตัวแบบนี้ ทำให้มองว่าโอกาสที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทพร้อมกันทุกจังหวัด ทุกพื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศน่าจะเป็นไปได้ยากเหมือนกัน แต่อาจจะออกมาในลักษณะ “ทยอยปรับ” ในความหมายไม่ใช่ปรับพร้อมกันทันที เหมือนกับที่โฆษกรัฐบาลได้แย้มเอาไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี หากเมื่อใดก็ตามการที่ไม่อาจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ตามที่ประกาศเอาไว้ มันก็ยิ่งทำให้รัฐบาล “เสียเครดิต” ทันที เพราะจะกลายเป็นว่าอีกหนึ่งนโยบาย “เรือธง” ทำไม่ได้ตามที่หาเสียงเอาไว้ จะซ้ำรอยนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ยังลูกผีลูกคน ยังเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ หรือถึงแม้ว่าจะเริ่มแจกได้ในใตรมาสสี่ปีนี้ก็ตาม แต่ด้วยหลักการและวิธีการที่เลื่อนมาเรื่อยๆ มันก็เสียหายอยู่แล้ว เพราะถูกมองว่า เป็นนโยบายที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองที่รอบด้าน รอบคอบ

ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมาพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง หากล้มเหลวอีก มันก็ยิ่งซ้ำเติมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ชูกนโยบายแบบนี้มาตลอด แต่กรณีนี้มันไม่อาจชี้ขาดเพียงฝ่ายเดียวได้ ต้องผ่าน “ไตรภาคี” ซึ่งนายจ้างย่อมมีส่วนสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่จ่ายค่าแรง

ขณะเดียวกัน การประกาศปรับขึ้นค่าแรงไปล่วงหน้า อีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมมีผลทางจิตวิทยา อย่างน้อยในเรื่องราคาสินค้าที่เตรียมขยับ หรือขยับไปรอล่วงหน้ากันแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ ซ้ำเติมเรื่องค่าครองชีพตามมาอีก ทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาลเรื่อง “แพงทั้งแผ่นดิน” กลายเป็นวาทะที่กลับมารัดคอรัฐบาลเข้าอย่างจัง เอาเป็นว่าเวลานี้มีแต่ปัญหารุมเร้า และหากขึ้นค่าแรงเหลวอีก หรือออกมา “ไม่ตรงปก” ก็ไม่อยากหลับตานึกภาพเลยว่า จะออกมาแบบไหน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น