วันนี้(15 พ.ค.)รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องข้อถกเถียงกรณีการดึงกัญชา กลับเป็นยาเสพติด ระบุว่า แนวคิดการนำนโยบายกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ต้องพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้าน ว่าอะไร คือ ปัญหาของนโยบายกัญชาที่แท้จริง อะไร คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการแพทย์ โอกาสของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอะไร คือ ผลกระทบที่จะตามมา มันต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุปัญหา และ การแก้ไขที่ถูกจุด เพราะจากนโยบายกัญชา หลังถูกประกาศใช้ไปแล้วก็มีประโยชน์ทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง มันผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษา มันมีคนปลูกกัญชาขาย แล้วเขาทำถูกต้อง พวกนี้ จะรับผิดชอบเขาอย่างไร
ที่เราพอจะมองเห็นคือ ปัญหานโยบายกัญชา อยู่ที่มาตรการควบคุม การบังคับใช้ให้มีการใช้อยู่ในวงจำกัดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในทางลบทางสังคม เด็ก และ เยาวชน ต้องพิจารณาในมุมนี้ ไม่ใช่ตัดสินใจปิดจบนโยบายเอาง่ายๆ เพราะความไม่พอใจบางจุด ซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นตามมาทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจกัญชาไปแล้ว ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชารักษาการเจ็บป่วย และกัญชาทางการแพทย์
หากจะแก้ปัญหากัญชาสมควรที่ต้องออกกฎหมายควบคุมการบังคับใช้ไม่ใช่ยกเลิก ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นต้องพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดที่สุด และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
“อยากให้มองการแก้ปัญหา โดยไม่ใช้แค่ความรู้สึก เข้าใจว่า พอพูดเรื่องกัญชา หลายคนรู้สึกไปแล้ว ว่าเป็นยาเสพติด ว่าเป็นของไม่ดี แต่ถ้ามองให้กว้างๆ จะเห็นว่า ทั่วโลก เปิดกว้าง ก้าวหน้าในเรื่องนี้ แล้วไทย จะถอยหลัง จะเอาแบบนั้นหรือ ทั้งที่มีปัญหาแค่เรื่องมันเข้าถึงง่าย เด็กเข้าถึงได้ ใช้เพื่อการสันทนาการใช่ไหม ก็ออกกฎหมายมาคุมให้เป็นเรื่้องเป็นราว มันน่าจะง่ายกว่าการล้มนโยบายทั้งหมด ส่วนนักลงทุน ผู้ป่วย ก็ให้ใช้ไป ไม่จำเป็นต้องมาสร้างความวุ่นวาย ให้กับคนที่เข้าใช้อย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติด ทั้งที่ก่อนหน้านี้บูมข่าวกันใหญ่โต ปลดล็อกกัญชาแล้ว ต่างชาติแห่มาลงทุน ในประเทศเอง ก็ลงทุนไปเยอะ แล้ววันดี คืนดี เอากลับมาเป็นยาเสพติด เขาจะมองว่านโยบายประเทศนี้ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ แบบนี้ อนาคตใครจะกล้ามาลงทุน ลงเงิน ก็คิดกันให้ดีๆ คิดรอบด้าน คิดให้รอบคอบ”