xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์” เร่งเขียน กม.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ เล็งดึงอำนาจกำหนดภาษีสรรพสามิตน้ำมันคืนพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.พลังงาน เร่งเขียน กม.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ เล็งดึงอำนาจกำหนดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลับมาอยู่ ก.พลังงาน ชี้ เป็นเครื่องมือช่วยลดการขาดทุนของกองทุนพลังงาน ระบุเดิมมีทั้งเครื่องมือเงินในกองทุนน้ำมันและภาษี คาดใช้เวลาไม่นาน


วันนี้ (8 พ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีสมาคมขนส่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการปรับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไปที่ 33 บาทต่อลิตร อาจกระทบกับภาคการขนส่งว่า เราพยายามที่จะดูแลราคาน้ำมันดีเซลมาให้เขา มาโดยตลอด ตนเองก็ได้รับข้อร้องเรียนว่าทำไมเวลาราคาน้ำมันลดแต่ผู้ประกอบการกลับไม่มีการลดราคาให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานพยายามที่จะตรึงราคาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร แต่ในขณะนี้เรายังตรึงไม่ได้ ที่ผ่านมาตลอด 50 ปี เราใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงินก็ขึ้นกับเงินในกระเป๋า เพราะที่ผ่านมาเงินมาก เราก็ตรึงราคาได้มาก แต่ว่าเงินน้อยตอนนี้เราก็ตรึงได้น้อย ถ้าเราเก็บเงินได้มากเดี๋ยวเราก็ตรึงได้อีก แต่ว่าระบบนี้เราไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ต้องปรับระบบใหม่ ขณะนี้ตนเองกำลังเขียนกฎหมายอยู่ และจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ซึ่งตอนนี้เขียนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว

เมื่อถามว่า กองทุนน้ำมันยังใช้ในการดูแลราคาน้ำมันได้นานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า เดิมการดูแลราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 ที่มีการตั้งกองทุนน้ำมันแต่ยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับ แต่มามีกฎหมายรองรับตั้งแต่ปี 2562

โดยก่อนปี 2562 นั้น คำสั่งที่ใช้ในการดำเนินงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันมีอำนาจในการดูแล หรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 วิธี หรือ 2 ขา คือ การใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ และ อีกส่วนหนึ่งคือการให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในอดีตแม้กองทุนน้ำมันฯจะไม่มีอำนาจในการเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของน้ำมันแต่ละชนิด ดังนั้นเราสามารถใช้เครื่องมือทั้งสองส่วนนี้ในการดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้ โดยเราสามารถใช้ทั้งเงินในกองทุนน้ำมัน และเพดานภาษีมาดูแลราคาน้ำมัน ก็คือเรามีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันแต่ละประเภท แต่คนเก็บภาษีนั้น คือ กระทรวงการคลัง แต่พอออกกฎหมายในปี 2562 แล้ว ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนน้ำมันฯออก เหลือแต่การใช้เงินอย่างเดียว ทำให้กองทุนน้ำมันฯติดลบจำนวนมากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

“การกำหนดเพดานภาษีน้ำมันฯ ซึ่งเคยเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมันฯนั้นไม่มีแล้วตั้งแต่ปี 2562 เราจึงต้องไปขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดเพดานภาษีน้ำมันสรรพสามิตดีเซลแทน แต่เขาไม่เห็นด้วย แต่เดิมนั้น กระทรวงพลังงานสามารถกำหนดผ่านกองทุนฯได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรมีการแก้ไขให้เหมือนเดิมต่อไปเช่นกัน เนื่องจากน้ำมันคือสินค้าที่กระทรวงพลังงานเป็นคนดู แล อำนาจส่วนนี้จึงควรอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วก็เป็นหน้าที่ที่กระทรวงการคลังไปเก็บภาษีตามที่เคยเป็นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547” นายพีระพันธุ์ กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องการคัดค้านการอุดหนุนราคาพลังงานของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

“ผมนั่งอยู่ในที่ประชุม ครม.เรื่องนี้ไม่มีนะ การช่วยเหลือประชาชนมันไม่ดีตรงไหน ส่วนข้อกังวลจากหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องผมไม่เห็น” นายพีระพันธุ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น