มหาดไทย แจ้ง 15 จังหวัด ขับเคลื่อนนโยบาย "เมืองสมุนไพร" ในระดับจังหวัดอย่างครบวงจร เร่งทำงบประมาณ สร้างแหล่งปลูกสมุนไพร-อุตสาหกรรมสมุนไพร-เมืองท่องเที่ยว/ความงามเชิงสุขภาพ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2566 - 70)
วันนี้ (8 พ.ค.2567) มีรายงานกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือ 2 ฉบับ แจ้งแนวทางการดำเนินงาน ขับเคลื่อนด้านเมืองสมุนไพรในระดับจังหวัด ถึง 15 ผู้ว่าราชการจังหวัด และ หัวหน้า 18 กลุ่มจังหวัด
ภายหลัง คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ออกประกาศ ให้ 15 จังหวัด เป็นเมืองสมุนไพร ขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพร จากแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)
ให้ 15 จังหวัด และ หัวหน้า 18 กลุ่มจังหวัด นำแผนไปพัฒนาในระดับภูมิภาค
โดยให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ด้วยการจัดทำแผนพัฒนา ตามนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำแผนและงบประมาณของจังหวัด
ทั้งการปลูกสมุนไพร การแปรรูป และการทำเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตของชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรมและสามารถตอบสนองนโยบายและมาตรการระดับประเทศ
สำหรับ 15 จังหวัด ที่้เป็นแหล่งปลูกสมุนไพร ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่
1) ด้านเกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์ มหาสารคาม อุทัยธานี สกลนคร และ สระแก้ว
2) ด้านอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สระบุรี ปราจีนบุรี และจันทบุรี
3) ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงามและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา
ทั้งนี้ เพื่อให้จังหวัดดังกล่าวเป็นต้นแบบเมืองสมุนไพรให้แก่จังหวัดอื่น
ซึ่งผลจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการดังกล่าว คาดว่าจะก่อเกิดรายได้สะสมจากการขายผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2566 รวมทั้งสิ้น จำนวน 11,780 ล้านบาท.