xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ”เล่นใหญ่ พิลึกถกสันติภาพพม่า !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - มาริษ เสงี่ยมพงษ์
เมืองไทย 360 องศา

ตอนแรกนึกว่าเป็นแค่รายงานข่าวลอยมาธรรมดาว่า นายทักษิณ ชินวัตร รับบทตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพในพม่า แต่กลายเป็นว่าน่าจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะมีการรายงานข่าวมาจากฝั่งพม่า หรือเมียนมา อย่าง “วิทยุเสียงอเมริกา” หรือ วีโอเอ ภาคภาษาพม่า ลงรายละเอียดยิบว่าพบกับใคร กลุ่มไหน ที่ไหน และใครเป็นคนเชิญมาหารือเจรจากัน จากนั้นก็ยังมีสื่อโซเชียลในพม่า ก็ยืนยันข่าวดังกล่าวตามมาอีกด้วย และล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า อาจเป็นเพราะนายทักษิณ เป็นคนกว้างขวาง และทางฝ่ายพม่าขอให้ช่วยเหลือ และเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้เกิดความปรองดอง ซึ่งไทยก็ได้ประโยชน์

สำนักข่าว VOA หรือ วอยซ์ออฟอเมริกา ภาคภาษาพม่า ได้ลงข่าวทักษิณได้พบกับผู้นำกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพม่าหลายกลุ่มมาตั้งแต่เดือนมีนา-เมษา เช่น กองกำลังของฉานสเตทอาร์มี SSA ที่นำโดย เจ้ายอดศึก กะเหรียงเนชั่นยูเนียน KNU คะฉิ่นเนชั่นออแกนไนเซชั่น KNO และอีกหลายกลุ่มกองกำลัง รวมถึงรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า National Unity Government (NUG) เพื่อพูดคุยเรื่องปัญหาของพม่า ที่กำลังรบกันภายในประเทศตอนนี้

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ฝ่าย นายทักษิณส่งตัวแทนไปคุยนัดแนะ ไม่ใช่กลุ่มต่างๆให้ส่งตัวแทนมาขอคุยกับทักษิณ โดยใช้ช่วงเวลาที่ทักษิณไปเชียงใหม่ในการพูดคุย

ขณะเดียวกัน เพจ Salween Press ในประเทศเมียนมา เผยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของ ประเทศไทย พบกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่ม

โดยได้รับการเปิดเผยจากนักวิเคราะห์กิจการชาติพันธุ์รายหนึ่งที่ระบุว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ของไทยได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่ม รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือวิกฤตของเมียนมา

นอกจาก KNU แล้ว RCSS ของสภาฟื้นฟูรัฐฉาน พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง KNPP เขากล่าวว่าเขาได้พบกับตัวแทนบางคนจาก KNO ขององค์กรแห่งชาติกะฉิ่น และ NUG ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคม และเมษายน

น่าสังเกตก็คือ ตามข่าวการหารือดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมแต่อย่างใด

ส่วนความเห็นของ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า ได้ทราบข่าวมาเช่นกัน และต้องยอมรับว่า นายทักษิณ เป็นคนที่กว้างขวาง และมีเพื่อนฝูงมาก ซึ่งทางเมียนมาคงเห็นว่า นายทักษิณจะสามารถช่วยได้ คงเป็นเรื่องที่ทางเมียนมาคุยกับนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย อย่างที่ตนบอกไปว่า เพิ่งจะทราบเรื่องดังกล่าว

รัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเองพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา อีกทั้งไทยก็ดำเนินการตามกรอบของอาเซียนด้วย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น บางอย่างกำลังดำเนินการอยู่ ขอยังไม่เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไทยต้องการเห็นความสมานฉันท์ ปรองดอง และสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปอยู่อย่างนี้ประเทศไทยก็ลำบาก

“ในฐานะที่เรามีพรมแดนเชื่อมติดต่อกันกับเมียนมายาวมาก อะไรที่เกิดขึ้นก็จะกระทบกับไทย ฉะนั้นใครที่ช่วยอะไรได้ ก็ควรจะช่วย และไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นทางการ อีกทั้งทางการเมียนมา รัฐบาล ชนกลุ่มน้อย ขอให้นายทักษิณมาช่วย ก็เป็นเรื่องของเขา”

ถามว่า แนวทางที่นายทักษิณไปช่วย ตรงกับแนวทางกับกระทรวงการต่างประเทศ หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งได้ยินจากข่าว จึงไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกว่า การดำเนินการตรงนี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ทางการเมียนมาไปว่ากันเอง ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะไปปรึกษาหารือกับใคร ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม. กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ รายงานหรือไม่ หลังมีกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ช่วยเจรจากับชนกลุ่มน้อย ว่า “ผมไม่ทราบว่ามีการไปเจรจาหรือเปล่า แต่เราเอง กระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคงเอง มีการพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องของชั้นความลับ เป็นเรื่องที่เราไม่อยากจะเปิดเผย”

ถามว่า ยืนยันในหลักการต้องการให้เกิดสันติภาพในเมียนมา นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน ประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำในการเจรจา เพราะมีเขตชายแดนติดกับเมียนมาจำนวนมาก เรายืนยันจะปฏิบัติตามที่อาเซียนให้ดำเนินการขึ้นมาให้เราทำ และเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราดูแลอยู่ตอนนี้

แน่นอนว่าจากข่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไปเป็นตัวกลางในการประสานการเจรจาปัญหาความขัดแย้งในพม่า ในฐานะอะไร มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเวลานี้เขายังมีสถานะเป็นนักโทษ รวมไปถึงหากเป็นตัวแทนของรัฐบาล แม้ว่าอาจจะบอกว่า “ไม่เป็นทางการ” และเป็นการลับก็จริง แต่มันจะสร้างความสับสนทั้งในประเทศและในเวทีการเมืองในภูมิภาค อาเซียน และกับประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องในเรื่องผลประโยชน์ และความขัดแย้งโดยตรง เช่น จีน อินเดีย บังคลาเทศ หรือแม้กระทั่งกับลาว ที่มีชายแดนติดกัน รวมไปถึงประเทศในอาเซียนบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ผลักดันในเรื่องพม่ามาตลอด และที่สำคัญในการหารือดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมด้วย

ปัญหาความขัดแย้งในพม่ามีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน และมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และประเทศไทยก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวละครนี้เท่านั้น และคำถามนอกเหนือจากนี้ก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร มีความเข้าใจปัญหาภายในพม่าแค่ไหน คงไม่คิดว่าตัวเองมีศักยภาพในฐานะ “ผู้มีบารมี” ทั้งในรัฐบาล และในประเทศนี้ จนสามารถโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันมาตกลงหยุดยิงและสร้างสันติภาพได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือเปล่า

น่าสังเกตก็คือ การเข้ามามีบทบาทในปัญหาพม่าของ นายทักษิณ ชินวัตร ตามข่าวที่บอกว่า เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ด้วย ทำให้ต้องประเมินกันอีกครั้งว่า นี่อาจเป็นสาเหตุที่เขาต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยหรือเปล่า หากมองในแง่การแทรกแซง และมีบทบาทล้ำเส้น

อย่างไรก็ดีแม้ว่าข่าวความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะในฐานะส่วนตัว หรือเป็นตัวแทนในทางลับไม่เป็นทางการ แต่ไม่น่าจะเหมาะสม และสุ่มเสี่ยงให้สถานการณ์สับสนบานปลายอีกด้วย เพราะปัญหาในพม่า ล้วนซับซ้อน และเอียดอ่อน มีมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่ต้องจับตากันก็คือ ตามข่าวที่ว่านั้นไม่มีตัวแทนรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วม ทำให้เสี่ยงให้เกิดความระแวงเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือเปล่า เอาเป็นว่างานนี้มีแต่เสีย มากกว่าได้แน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น