“ธีระชัย” เห็นด้วย แบงก์ชาติควรมีนโยบายการเงินช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ความมีอิสระเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการบริหารนโยบายการเงิน ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการโดยอิสระ ไม่ใช่คำนึงถึงประโยชน์ทางการเมือง ชี้ 8 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ทำให้แบงก์ชาติไว้ใจ ดึงดันกู้มาแจก พูดคนละภาษา จึงคุยกันยาก
วันนี้ (6 พ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นในประเด็นความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีรายละเอียดดังนี้
แบงก์ชาติเป็นอิสระ
วันนี้ PPTV สัมภาษณ์ผม เกี่ยวกับความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ สืบเนื่องจาก คุณแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า “กฎหมายพยายาม จะให้ ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล”
เรื่องนี้ บางแง่มุม ตรงกับที่ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐเคยเสนอแนะไว้ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 ผมกับ ดร.อุตตม สาวนายน ได้จัดเวทีวิชาการพรรคพลังประชารัฐ ในหัวข้อ “พลิกมุมคิด เรื่องการเงินการคลัง” เพื่อนำเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ
ผมเสนอแนะว่า ท่านนายกฯ เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง ควรเร่งหารือผู้ว่าการ ธปท. เพื่อร่วมหาแนวทางที่จะสามารถใช้ “นโยบายและมาตรการทางการเงิน” เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายด้านดอกเบี้ยและค่าเงินบาทมากขึ้น และแนวทางเพิ่มการใช้นโยบายด้านการเงิน เพื่อปูพื้นให้เอกชนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงได้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเกิดขึ้นจากภาวะการจ้างงานที่ลดลง ส่งผลให้ครัวเรือนหันมาพึ่งพิงหนี้นอกระบบมากขึ้น
“การใช้นโยบายด้านการเงินให้มีบทบาทเพิ่มขึ้นนั้น ถ้าทำอย่างระมัดระวัง จะไม่ก่อปัญหาต่อเงินเฟ้อหรือเสถียรภาพการเงิน และถึงเวลาที่เราจะคิดบริหารประเทศด้วยใช้มือทั้งสองข้างพร้อมกัน ไม่ใช่ให้นโยบายการคลังทำงานอยู่มือเดียวเป็นหลัก ดังนั้น ต้องชกทั้งสองหมัด ไม่ใช่หมัดเดียว” นายธีระชัย กล่าว
ผมจึงเห็นว่า กรณีที่ คุณแพทองธาร กล่าวถึงนโยบายการคลังที่รับภาระหนัก ควรมีนโยบายการเงินมาช่วยเบาภาระด้วยนั้น เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง
แต่ที่ คุณแพทองธาร กล่าวว่า ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น ไม่ถูกต้อง
เพราะการบริหารนโยบายการเงินนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ โดยมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ไปคำนึงถึงประโยชน์ทางการเมือง
ผมวิจารณ์ว่า ตลอดแปดเดือนที่ท่านนายกเศรษฐาเป็นรัฐมนตรีคลังด้วยนั้น ไม่สามารถประสานงานระหว่างกระทรวงคลังกับแบงก์ชาติใดเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
หนึ่ง ไม่ได้ทำให้แบงก์ชาติวางใจ
รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแบบหัวชนฝา
ในขณะที่แบงก์ชาติมองเห็นว่า การกู้หนี้สาธารณะทางตรงหรือทางอ้อมมาแจกเงินแบบเหวี่ยงแหเพื่ออุดหนุนการอุปโภคบริโภคนั้น ไม่ได้ผลที่ยั่งยืน
แบงก์ชาติจึงเสนอทางเลือกในการใช้นโยบายการคลังนี้ ไปในทางที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่มีผลยั่งยืนมากกว่า
ทุกรัฐบาลในโลกที่มาจากประชาชนย่อมต้องการเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจเต็มที่เพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่ถ้ามากเกินไปก็จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาหนี้สูญในระบบแบงก์ ปัญหาเงินทุนไหลเข้าออก ปัญหาอันดับเครดิตของประเทศถูกลดลง และปัญหาเสถียรภาพอื่น
ระบบการบริหารประเทศทุกประเทศ จึงวางให้แบงก์ชาติถ่วงดุลกับรัฐบาล ดังนั้น ความเป็นอิสระจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
สอง พูดกันคนละภาษา
ท่านนายกฯ เศรษฐา เคยชินกับการสั่งงานภายในบริษัท ที่ลูกน้องจะต้องกระโดดรับลูกตามทันควัน รวมทั้งการสั่งงานแก่บริษัทเอกชนที่เข้ามารับจ้างให้บริการบางอย่าง บริษัทเหล่านี้ก็อยู่ในโอวาทเช่นเดียวกัน
แต่ปรากฏว่า ท่านนายกฯ เศรษฐา แสดงจุดยืนเรียกร้องต่อผู้ว่าการแบงก์ชาติผ่านสื่อมวลชน โดยแถลงข่าวหลายครั้งเอาประชาชนมาร่วมกดดัน
ถ้าอธิบายเป็นภาษามวย แทนที่ประเทศไทยจะชกกับคู่ต่อสู้ โดยใช้หมัดซ้ายและหมัดขวาคู่กัน กลับกลายเป็น เอาหมัดขวา ไปชกกับหมัดซ้าย
ทั้งนี้ การประสานงานระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ จึงต้องคอยติดตามว่ารัฐมนตรีคลังคนใหม่จะมีท่าทีอย่างไร
ข้อวิจารณ์โดยคุณแพทองทาครั้งนี้ ได้กระจายไปสื่อต่างประเทศ ซึ่งมีแต่จะก่อปัญหาต่อภาพพจน์ของรัฐบาล ทั้งที่ไม่ช่วยแก้ปัญหา
สาม โจทย์เพื่อคุยกับแบงก์ชาติ
ผมแนะนำโจทย์ต่อไปนี้
1. แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ค้างชำระ โดยการลดเงินที่แบงก์พาณิชย์จ่ายให้แก่กองทุนฟื้นฟูเป็นการชั่วคราว
2. แก้ปัญหาด้วยการลดยอดหนี้ haircut โดยให้แบงก์พาณิชย์ควักกระเป๋าออกจากกำไรสะสมมาช่วยลูกหนี้รายย่อยบางส่วน
3. ให้แบงก์พาณิชย์ชะลอการบังคับหลักประกันลูกหนี้รายย่อย
4. ให้แบงก์ชาติวางแผนเพื่อเอกชนลงทุนขยายกำลังผลิตเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ยังจะไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อ
5. ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ โดยให้ บสย.ค้ำประกันสัดส่วนสูงชั่วคราว
6. เปลี่นนนโยบายการคลังของรัฐบาล จากการกู้หนี้สาธารณะมาแจกอุดหนุนอุปโภคบริโภค ไปเน้นการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันยั่งยืน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ