xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นหุ้น-ฉ้อโกงมอร์ฯ 5,300ล้าน สามแม่ลูก "พรประภา" อรพินธุ์ - "ไฮโซคิม"-อธิภัทร ทั้ง "ปิงปอง-เฮียม้อ" และพวก 42 รายถึงกาลอวสาน??!! ** ทนายถุงขนม “พิชิต ชื่นบาน” ระเบิดเวลาในรัฐบาลเศรษฐา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อรพินธุ์ พรประภา- เอกภัทร หรือ ไฮโซคิม พรประภา  - ปิงปอง อภิมุข บำรุงวงศ์ - เฮียม้อ อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ
ข่าวปนคน คนปนข่าว

** ปั่นหุ้น-ฉ้อโกงมอร์ฯ 5,300ล้าน สามแม่ลูก "พรประภา" อรพินธุ์ - "ไฮโซคิม"-อธิภัทร ทั้ง "ปิงปอง-เฮียม้อ" และพวก 42 รายถึงกาลอวสาน??!!

คดีมหากาพย์ "ปั่นหุ้น" บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE หลังจากทอดเวลามานานเกือบๆ 2 ปี นับแต่ สำนักงานก.ล.ต. พบว่า มีกลุ่มบุคคลร่วมกันปั่นหุ้น สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นในช่วงระหว่าง วันที่18 ก.ค.-10 พ.ย.65 ในที่สุดกรมสอบสวนคดีพิเศษก็รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเสียที

ฟังว่า “ดีเอสไอ” มีพยานหลักฐานพอดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 42 คน เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ตามพฤติการณ์ความผิดที่แต่ละคนเกี่ยวข้อง พร้อมนำตัวผู้ต้องหา ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ดีเอสไอ แจ้ง 3 ข้อหาหนัก

จาก ผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์ร่วมกันปั่นหุ้น MORE อย่างต่อเนื่องในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ พบว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวยังเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 4,500 ล้านบาท

ตามด้วยความผิดฐานเป็น อั้งยี่ ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา

เรียกว่า พฤติกรรมทั้งปั่นหุ้น-ฉ้อโกง และ เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ครบถ้วนกระบวนความ!!

งานนี้ บรรดานักลงทุนที่เจ็บตัวเสียหายหนัก ก็น่าจะบรรเทาความรู้สึกได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีนี้ ต้องบอกว่า ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการตลาดหุ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจที่สุด ในคดี “มอร์รีเทิร์น” นี้ ปรากฏว่า มีสามแม่ลูกตระกูลดัง "พรประภา" ประกอบด้วย นางอรพินธุ์ พรประภา เอกภัทร หรือ "ไฮโซคิม" และ อธิภัทร พรประภา เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ยังมีตัวละครสำคัญอย่าง "ปิงปอง" อภิมุข บำรุงวงศ์ และ "เฮียม้อ" อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ผู้ถือหุ้นใหญ่-อดีต CEO มอร์ฯ พ่วงบรรดาเหล่าตระกูล ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน

“ไฮโซคิม” เคยพูดถึงคดีนี้ ตอนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ บก.ปอศ. ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเล่นหุ้น ปกติครอบครัวจะเป็นคนลงทุนโดยใช้ชื่อของตน กระทั่งเห็นว่าขาดทุน จึงหันมาบริหารดูแลเอง แต่เพราะเป็นคนกระหายความสำเร็จ จับปลาหลายมือ จึงไปจ้างคนมาดูแลเรื่องการลงทุนแทน ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิต

ส่วนการต่อสู้คดี แน่นอนว่า ได้เตรียมทั้งพยานหลักฐาน และข้อมูลไว้หมดแล้ว

เมื่อกงล้อของกฎหมาย กระบวน การยุติธรรมหมุนแล้ว จากนี้ไปก็คงจะต้องติดตามดูกัน บทสรุปสุดท้าย คดีมหากาพย์ อภิมหาปั่นหุ้น-ฉ้อโกงบริษัทมอร์ฯ จะมีใครบ้างที่ต้องรับโทษทัณฑ์

รวมไปถึงสุดสายปลายทาง นี่จะเป็นกาลอวสานของ สามแม่ลูกตระกูลดัง "พรประภา" อรพินธุ์ - "ไฮโซคิม"- อธิภัทร และ ปิงปอง-อภิมุข "เฮียม้อ" อมฤทธิ์ และพวก หรือไม่?

เศรษฐา ทวีสิน - พิชิต ชื่นบาน
** ทนายถุงขนม “พิชิต ชื่นบาน” ระเบิดเวลาในรัฐบาลเศรษฐา

หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศรายชื่อ “ครม.เศรษฐา 1/1” โดยรัฐมนตรีใหม่ยังไม่ทันได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก็มีเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับคุณสมบัติรัฐมนตรีเสียแล้ว

ผู้ที่ถูกร้องเรียนคือ “ทนายถุงขนม” พิชิต ชื่นบาน ทนายความประจำตระกูลชินวัตร ที่ได้รับการปูนบำเหน็จ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีปัญหาทั้งด้านกฎหมาย และด้านจริยธรรม

โดยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และแนวร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้ร้องเรียนทั้งที่ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัย หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า “พิชิต ชื่นบาน” ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

จากกรณีเคยถูกสภาทนายความ ถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 51 หรือที่เรียกกันว่า “คดีถุงขนม”... และเตรียมร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบวินัยร้ายแรงนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้เสนอชื่อทูลเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีด้วย
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ(5) ที่ถูกยกขึ้นมาร้องเรียน ระบุ ดังนี้

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เรื่องนี้ หากถึงที่สุดแล้ว ศาลฯเกิดชี้ว่า “พิชิต” ขัดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ยุ่ง ในฐานะผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อมีเรื่องร้องเรียน แต่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์สื่อด้วยความมั่นใจ ว่า ได้ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว และได้รับ “ไฟเขียว”กลับมา

คราวนี้ เมื่อไปดูจากหนังสือของ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่ตอบกลับมา หลังจากพิจารณากรณีดังกล่าว จะพบว่า “กฤษฎีกา” ไม่ได้ถึงกับฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “พิชิต ชื่นบาน” ไม่มีปัญหาขาดคุณสมบัติตามรธน. เพราะในตอนท้าย ของหนังสือความเห็น บอกทำนองว่า “ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด”

อีกทั้งเนื้อหาในบางช่วง บางตอนที่เป็นใจความสำคัญ ระบุว่า...

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการครม. และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้

“ประเด็นที่หนึ่ง” เห็นว่า มาตรา160 ของรธน.60 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 98 ซึ่ง มาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า

"เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลทุโทษ"

ดังนั้น การได้รับโทษจำคุก ไม่ว่าโดยคำพิพากษา หรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้น ได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่ รธน.บัญญัติไว้
“ประเด็นที่สอง” เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรธน. บัญญัติไว้ชัดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

จุดสำคัญ คือ ในตอนท้ายของหนังสือ ยังระบุว่า

“ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่า ประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณี มาตรา 160 (6) ประกอบกับ มาตรา 98 (7) และ มาตรา 160 (7) ของรธน.เท่านั้น

อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรธน. อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรธน. ที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรธน. การให้ความเห็นในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น”

กลายเป็นว่า เรื่องที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ นั้นถามแค่ มาตรา 160 (6) และ (7) ไม่ได้ครอบคลุมไปถึง (4) เรื่องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) เรื่องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งกฤษฎีกาฯ ก็ตอบเฉพาะประเด็นที่ถามมาเท่านั้น

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรื่อง “ทนายถุงขนม” คงไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลา ในรัฐบาลเศรษฐา ที่รอศาลรัฐธรรมนูญ มาจัดการ ส่วนจะถอดสลักนิรภัยได้หรือไม่ ต้องคิดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น