ป.ป.ช.ลุยตรวจ 2 หาดดังภูเก็ต ระบุปมเอกชนรุกหาดพาราไดซ์อยู่ระหว่างตรวจสอบ เผยสปก. ไฟเขียวปชช-นทท.เข้าได้ หวังเทศบาลช่วยจัดระเบียบ ส่วนหาดนุ้ย พบก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลสั่งรื้อถอน แต่ผู้ประกอบการอุทธรณ์ยันครอบครองถูกต้อง
วันนี้ (2 เม.ย. ) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย ปปช.ภาค 8 นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ หาดพาราไดซ์ ต.ป่าตอง อ.กระทู้ จ
ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบติดตามกรณีมีการเก็บค่าผ่านทางลงพื้นที่ชายหาด ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และร่วมกับตำรวจ สภ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่สปก.ภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้ากรณีเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินหาดนุ้ยกับภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวยืนยันว่าครอบครองโดยถูกต้องกระทั่งมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ถนนลงไปยังชายหาด อีกทั้งยังเรียกเก็บค่าบริการรถรับส่งและสาธารณูปโภค
นายนิวัติไชย กล่าวว่ากรณีของหาดพาราไดซ์อยู่ระหว่างการดำเนินงานของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการตรวจสอบ มีแปลงและแปลงล่าง รวมเนื้อที่ประมาณ 80 กว่าไร่ ซึ่งพื้นที่ชั้นบนได้ถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่สปก.อย่างชัดเจนแล้ว ขณะนี้มีการปิดกั้นไม่ให้มีการใช้ทำประโยชน์ แต่ยังคงให้เป็นทางสาธารณะ เป็นพื้นที่ของส่วนราชการ หากมีการบุกรุกหรือครอบครองก็จะมีความผิด โดยได้มีการแจ้งความร้องทุกข์และอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์
ส่วนแปลงด้านล่าง ยังติดปัญหาด้านข้อกฎหมาย และยังไม่ได้มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเนื่องจากติดใบแจ้งครอบครองที่ดิน หรือ สค. 1 ซึ่งกรมที่ดินจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องนี้ในฐานะเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ ส่วนใบสค. 1 จะ เอามาแปลงเป็นโฉนดได้หรือไม่ยังต้องไปพิสูจน์สิทธิ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตนคาดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะกรมที่ดินก็ดำเนินการไป ขณะที่ป.ป.ช.ก็จะดำเนินการอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าผลการตรวจสอบน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากเป็นสค. 1 จริงก็เป็นสิทธิ์ของบุคคลที่ครอบครองอยู่ มีสิทธิ์ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ แต่หากไม่ใช่สค. 1 หรือไปเอาสค. ไหนมาก็ต้องดูว่าใครเป็นผู้ลงนามในเอกสารนั้น เจ้าหน้าที่คนไหนประชาชนคนไหนไปขอออกเอกสาร หากมีชื่อก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดครั้งนี้ จากนี้ตนจะติดตามที่กรมที่ดินเพื่อความรวดเร็วต่อไป แต่ย้ำว่าชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะประชาชนต้องสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จะไปปิดกั้นไม่ได้
"ผมเห็นด้วยกับการที่เทศบาลเมืองป่าตองจะมาขอใช้พื้นที่หาดพาราไดซ์ หากสปก.อนุญาต ให้เทศบาลเข้ามาดูแลแทนเอกชน ทั้งการจัดระเบียบการจราจร การลงชายหาด หากจัดระเบียบดีๆก็จะมีรายได้เข้าสู่เทศบาลโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการกีดกันกันที่จะนำรถเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าวได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะมาแก้ไขปัญหาพื้นที่นี้" นายนิวัติไชย กล่าว
เมื่อถามว่า กรณี ผู้ประกอบการคนเดิม ฟ้องร้องต่อศาลขออุทธรณ์ให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เพิ่มเติมจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างแจ้งความร้องทุกข์ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน ซึ่งเทศบาลและสปก.ไปแจ้งแล้วตั้งแต่ ราวๆ ปี 2550 ว่าใครครอบครองใครบุกรุก ตอนนี้ยังต้องช่วยกันติดตามเรื่อง แต่กรณีมีการปิดกั้น มีการแจ้งไม่ให้ใช้สิทธิ์ ใช้ประโยชน์ ในที่ดินแห่งนี้ น่าจะมีการยื่นเรื่องไปยังกรมที่ดินเพื่อให้มีการตรวจสอบ เจ้าของที่ดินมีเอกสารสค.หรือไม่ อันนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนการรื้อถอนกำลังดูอยู่ ว่าอยู่ในเขตอะไร
ส่วนประเด็นเรื่องสค.ที่มีความลาดชัน ซึ่งความลาดชันโดยหลักแล้วเป็นพื้นที่เขา ไม่เป็นป่าก็อุทยาน ก็ต้องไปพิสูจน์สิทธิ์ แต่นั่นก็เป็นข้อกฎหมายด้วยเรื่องหนึ่ง ส่วนกรณี ผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของไปคุยกับทางกรมโยธาธิการนั้นทางป.ป.ช.เองก็จะไปตรวจสอบว่ามีเรื่องนี้จริงหรือไม่
นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า หาดนี้ปิดมานานแล้วแต่ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวยังสามารถ เดินทางมาท่องเที่ยวได้เนื่องจากได้ทำการสอบถามยังสปก.แล้วว่าสามารถ ขับรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาได้ แต่พื้นที่ สำหรับจอดรถค่อนข้างน้อย และถนนมีความลาดชันจึงต้องระมัดระวังเรื่องอันตราย
เมื่อถามย้ำว่า เจ้าของที่อ้างว่ามีใบสค. และสปก.อนุญาตไม่ให้ผ่านเข้ามายังพื้นที่หาด นายนิวัติไชย กล่าวว่ายืนได้สอบถามกับทางสปก. แล้วยืนยันว่าสามารถผ่านได้ โดยสปก.จะเป็นผู้ดูแลให้หากลงมาแล้วเกิดปัญหา ก็ไปคุยกับสปก.เอง วันนี้ที่ภูเก็ตมีอยู่ 9 คน ยืนยันว่าการท่องเที่ยวไม่มีการปิดการขาย เจ้าของเดิมที่เคยนำรถมาบริการนักท่องเที่ยว จะมาแข่งขันกันด้วยก็ได้ไม่ได้ว่าอะไรเพราะทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนเป็นประชาชนคนหนึ่งแต่ขออย่าไปปิดกั้น ผู้รับจ้างรายอื่นแค่นั้นเอง เมื่อเกิดการแข่งขันก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง นี่คือหลักการง่ายๆในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันติดตาม
ส่วนกรณีของหาดนุ้ย จากการตรวจสอบเบื้องต้นเส้นทางเข้ามายังที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินในพื้นที่ สปก. จากนั้นมีแนวรั้วกั้นกลับที่ดินที่เจ้าของอ้างกรรมสิทธิ์จึงทำให้เกิดข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ เพราะผู้ครอบครองอ้างว่ามีเอกสาร น.ส. 3 และที่ผ่านมาพบว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยกรมป่าไม้เป็นผู้ฟ้องคดี จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการออกเอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ก.มิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ต่อมาผู้ครอบครองได้ต่อสู้แอบอ้างเรื่องกรรมสิทธิ์ขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดภูเก็ตเอาผิดกับกรมป่าไม้ที่ออกคำสั่งเพิกถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ
ส่วนในประเด็นที่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวจนเกิดเป็นกระแสข่าวก่อนหน้านี้เรื่องเก็บค่าผ่านทางโดยอ้างว่าเป็นค่ารถโดยสารนั้น เลขา ป.ป.ช. กล่าวว่าผู้ครอบครองอ้างว่าได้เก็บเพียงคนละ 100 บาทเป็นค่ารถและค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ค่าเข้าหาด ซึ่งผู้ประกอบการได้รับปากกับทางปปชและหน่วยงานที่ลงพื้นที่ในวันนี้ว่าตั้งแต่วันนี้จะไม่ได้มีการบังคับให้ใช้บริการรถโดยสารของทางรีสอร์ท หากใครประสงค์ที่จะเดินหรือนำรถมาเองก็สามารถนำมาได้โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านทางใดๆ
ส่วนประเด็นสำคัญคือการก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การก่อสร้างและการควบคุมอาคาร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกะรนและได้รับคำยืนยันว่าผู้ประกอบการไม่ได้ขออนุญาตก่อนก่อสร้าง แล้วและที่ผ่านมามีคำสั่งให้ทำการรื้อถอนแล้ว แต่ผู้ประกอบการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการและบุคคลที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีการบุกรุกและการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการแอบอ้าง งั้นจากการตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่ามีแนวชายฝั่งติดทะเล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า โดยผู้ประกอบการอ้างว่าได้ทำบันทึกตกลงกับกรมเจ้าท่าไว้แล้ว ซึ่งป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบกรณีนี้เช่นเดียวกัน เพราะหากบันทึกจริงก็ต้องเป็นบันทึกทางราชการและสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ในระหว่างการลงพื้นที่มีตัวแทนผู้ประกอบการได้ถือเอกสารมาชี้แจงต่อเลขาป.ป.ช.และคณะพร้อมชี้แจงข้อสงสัยกรณีการครอบครองและคำพิพากษาของศาล โดยยืนยันว่ายังมีกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวแม้ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อเทศบาลตำบลกะรนในคำสั่งให้รื้อถอนและยื่นร้องต่อศาลปกครองจังหวัดภูเก็ตให้เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่เทศบาลตำบลกะรนยืนยันว่าการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างไม่ได้มีการขออนุญาตจึงมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร
ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบแล้วหลายครั้งและมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว 20 กว่าหลัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานการฝ่าฝืนการเข้ามาใช้อาคาร เพื่อจะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป โดยเทศบาลได้ยื่นฟ้องต่อสถานีตำรวจภูธรภูเก็ตไปแล้ว 5 คดี
ด้านพ.ต.อ.คุณเดช ณ หนองคาย ผกก.สภ.กะรน ชี้แจงว่าคดีความทั้งหมด 5 คดี ดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 คดี เป็นคดีบุกรุกและแผ้วถาง ศาลมีคำสั่งจำคุกและให้ออกจากพื้นที่แต่ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ ส่วนคดีความที่ทางเทศบาลตำบลกระโดนแจ้งความอีก 2 คดีเกี่ยวกับการก่อสร้างนั้นคณะกรรมการจังหวัดมีคำสั่งไปแล้วให้มีการเปรียบเทียบปรับ ส่วนคดีที่กรมป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีนั้น ยืนยันว่าสอบปากคำได้คืบหน้ามากแล้ว หลังจากนี้ก็จะประเมินค่าเสียหายจากกรมป่าไม้หลังจากนั้นจะเรียกผู้เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา เข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม
เลขาธิการ ป.ป.ช.ย้ำว่าเรื่องดังกล่าวจะให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย โดยได้กำชับให้ตำรวจท้องที่และเทศบาลตำบลกะรน กรมป่าไม้ เร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีให้เร็วที่สุด