"ชูศักดิ์" เผย “กมธ.นิรโทษ” เตรียมเสนอล้างผิดคดีมีเหตุจูงใจทางการเมือง พ่วงคดีไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน พร้อมแยกพิจารณาคดี ม.112 เหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
วันนี้ (2พ.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่า จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยมีคำนิยามว่ามูลเหตุทางการเมือง หมายถึงการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรบ้าง ที่ประชุมมีความเห็นชอบร่วมกันว่าการกระทำที่มีโทษนั้นควรจะเป็นการกระทำที่อยู่ในบทนิยามคำว่า”มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่ามีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะนำเข้ามาเป็นรายละเอียดพร้อมทั้งแยกแยะให้เห็น เนื่องจากการกระทำหลายอย่างดูแล้วไม่ใช่ และไม่อยู่ในข่ายที่เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยตรง แต่การกระทำในทางกฎหมายที่เรียกว่าเป็นความผิดในหลายบท เช่น บางคนอาจจะโดนคดีหลักและมีคดีรอง เช่น คดีจราจรทางบก คดีนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น
นายชูศักด์ กล่าวต่อว่า ทางกมธ.ฯจะแยกแยะการกระทำประเภทนี้ว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่จะสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องจะมีขอมติให้ขอนิรโทษกรรมไปเลย เพราะบางคดีเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความผิดพ่วง เป็นต้น นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติขอขยายพิจารณาออกไปอีก 60 วัน แต่กมธ.คงใช้ไม่เต็มทั้ง 60 วัน โดยกมธ.จะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาฯในครั้งหน้าในเดือนก.ค.
ส่วนมีคดีอะไรบ้างที่จะให้นิรโทษกรรม นายชูศักด์ กล่าวว่า เป็นคดีที่เราระบุเกิดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ระบุถึงประเภทคดีแบบเป็นรายคดีว่าหมายถึงการกระทำหรือคดีอะไรบางที่อยู่ในข่ายควรที่จะได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำเป็นรายละเอียดไปเสนอให้กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ได้พิจารณาในชั้นรายละเอียด ส่วนจะเป็นคดีอะไรบ้างเราจะทำเป็นรายละเอียดแนบเป็นรายงานเพิ่มเติมเข้าไป
“เราก็คิดว่าถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไร”
ส่วนคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะแยกไปเป็นอีกกรณีหนึ่งเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกันมาก เราจึงคิดว่าควรจะแยกออกมาเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาว่าเรามีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่โดยจะไม่พิจารณาร่วมไปในเรื่องที่เราพูดกันไปแล้ว