xs
xsm
sm
md
lg

“ธนกร” ถาม “ก้าวไกล“ หวังดีหรือประสงค์ร้าย เรียกร้องขึ้นค่าจ้างแบบไม่สนหลักการไตรภาคี ฉะเอา ปชช.มาอ้างแต่จ้องโจมตีการเมืองท่าเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธนกร” จี้ถาม “ก้าวไกล” หวังดีประสงค์ร้ายแรงงานไทย หลังเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแบบไม่สนหลักการ คกก.ไตรภาคี ฉะเอา ปชช.มาอ้าง แต่จ้องโจมตีการเมืองท่าเดียว ยัน รัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงาน ปรับค่าแรงทุกปี ย้ำ ต้องดูรอบคอบ สภาพคล่องผู้ประกอบการ-นายจ้าง ควบคู่ด้วย

วันที่ 1 พ.ค. 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน และรัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนภาคแรงงาน เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและภาคท่องเที่ยว ล้วนต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งล่าสุด กระทรวงแรงงานได้ประกาศข่าวดีมาแล้วว่าเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ในปีนี้และปรับขึ้นทุกปี โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางไว้

ทั้งนี้ นายธนกร ระบุว่า จากกรณีที่ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายเซีย จำปาทอง ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และ นายกฯ ว่า ให้ความหวังผู้ใช้แรงงานลมๆ แล้งๆ ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้นั้น ตนมองว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มีผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือ รมว.แรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ โดยรัฐบาลต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่มองแค่ฝ่ายลูกจ้างอย่างเดียว ต้องดูถึงสภาพคล่องและกำลังทุนของนายจ้างและผู้ประกอบการรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้คณะกรรมการไตรภาคีต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งนายกฯและรัฐบาลก็ยึดนโยบายหลักที่ได้แถลงต่อสภาไว้ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีอยู่แล้ว

“การที่พรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้นั้น มองว่า เป็นการหวังดีประสงค์ร้าย นำผู้ใช้แรงงานมาบังหน้าเพื่อโจมตีทางการเมืองรัฐบาล เพราะถ้าหากกระทรวงแรงงาน เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคี ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างรวดเร็ว ย่อมจะถูกก้าวไกลโจมตีอีกเช่นกัน ซึ่งตามหลักการแล้ว ทุกรัฐบาลต้องหารือผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และต้องคิดอย่างรอบคอบว่าผู้ประกอบการ จะได้รับผลกระทบแบกรับต้นทุนไหวหรือไม่ หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปจน นายจ้างผู้ประกอบการ แบกรับไม่ไหว สุดท้ายผลกระทบก็จะกลับมาที่ผู้ใช้แรงงานอยู่ดี การโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้ จึงมองว่า ก้าวไกลนำความเดือดร้อนของประชาชนมาบังหน้าเพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาล จึงอยากถามกลับว่า เป็นการหวังดีต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานจริงๆ หรือไม่ หรือหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว” นายธนกร ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น