เลขาฯ กกต. แจงแนวปฎิบัติในการเลือก ส.ว. ผู้สมัครทำได้แค่แนะนำตัว โดยห้ามนักการเมืองและพรรคการเมืองช่วยเหลือผู้สมัคร สื่อยึดแนวทางการทำตามหน้าที่-ประชาชนช่วยสังเกตการณ์ ตรวจสอบผู้สมัคร
วันนี้ (30 เม.ย.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงการปฏิบัติตัวของประชาชน สื่อ ผู้สมัคร นักการเมือง ใครอยู่ตรงไหนทำอะไร ในการเลือก ส.ว. โดยระบุว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือก ส.ว.ในส่วนของประชาชนไม่มีสิทธิเลือก ส.ว ตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ให้สิทธิในเรื่องนี้ แต่สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจาก สนง กกต.เกี่ยวกับประวัติของผู้สมัครทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มสาขาอาชีพใด ทั้ง 20 กลุ่ม ในชั้นอำเภอ 928 อำเภอ ชั้นจังหวัด 77 จังหวัด และ ระดับประเทศ ได้ที่ แอปพลิเคชัน smart vote และ เว็บไซต์ สนง กกต. รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวจากสื่อต่างๆ ซึ่ง สนง กกต. จะเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่ประชาชนควรรู้ผ่านสื่อฯ ให้มากที่สุด
ส่วนในวันเลือก ส.ว.สามารถไปสังเกตการณ์การเลือกได้ทุกที่ ทั้งในชั้นอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ โดย สนง.จะจัดให้มีโทรทัศน์วงจรปิด ถ่ายถอดบรรยากาศภายในที่เลือกตั้ง ให้ดูตลอดการลงคะแนนจนปิดเวลาลงคะแนน
นายแสวง ระบุว่า ขอให้ประชาชนสังเกตการณ์ ตรวจตรา ตรวจสอบ แล้วแจ้ง กกต. ว่ามีผู้สมัคร พรรคการเมืองใด หรือผู้ใด แนะนำไม่เป็นไปตามระเบียบหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
ในส่วนของสื่อมวลชน สามารถเสนอข่าวได้ตามปกติตามหลักวิชาชีพ อาทิ รายงานข่าวในที่เลือกตั้ง ใครสมัครในกลุ่มสาขาอาชีพใด วิเคราะห์ จัดเวที เสนอข้อเท็จจริง สัมภาษณ์ผู้สมัครเกี่ยวกับเรื่องอื่นได้ แต่ต้องไม่เกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ สื่อที่สมัคร ส.ว. ทำหน้าที่การงานได้ตามปกติแต่อย่าไปพูดแนะนำตัว ว่าสมัคร ส.ว. มีประวัติหรือประสบการณ์อย่างไร ทั้งนี้ จากระเบียบที่ออกมา เพื่อใช้บังคับกับผู้สมัคร ไม่ได้ใช้บังคับกับสื่อ แต่ต้องพึงระวังในการทำหน้าที่สื่อ ต้องไม่เป็นช่วยเหลือการแนะนำตัวผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
สำหรับผู้สมัคร ส.ว.ต้องแนะนำตัวตามที่กฎหมาย และระเบียบที่ กกต. กำหนด ทำมากไปกว่านั้นอาจถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือถ้าเป็นโทษเกี่ยวกับการทุจริต เช่น รู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิแต่มาสมัคร ซื้อเสียง หลอกลวง รับการช่วยเหลือจากคนของพรรคการเมือง จะมีโทษอาญาด้วย คือทั้งโทษจำคุกและปรับ นักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ต้องไม่ไปช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ว. นั้นหมายถึงการห้ามพรรคการเมืองไปโดยปริยาย
ส่วนการเลือก ส.ว. เป็นระบบปิดจริงหรือ นายแสวง ชี้แจงว่า เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือก แต่นั่นเป็นเพียงอย่างเดียวที่ประชาชนถูกตัดสิทธิไป ส่วนการมีส่วนร่วมอย่างอื่น ประชาชนก็ยังมีส่วนร่วมเหมือนเดิม เหมือนการเลือกตั้งโดยทั่วไป เรื่องนี้ สนง.กกต. ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างดี จึงได้ออกแบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม สังเกตการณ์การเลือก ส.ว. ตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา จนถึงวันลงคะแนน อย่างใกล้ชิด