เมืองไทย 360 องศา
มาถึงวันนี้ยังถือว่า นโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ยังลูกผีลูกคน คือยังไม่มีความแน่นอน และส่อไปในทางแบบ“ไม่ได้แจก” หรือแจกไม่ได้สูงมาก แม้ว่าที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำแถลง โดยมีบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลยืนเรียงแถวเป็นแบ็กกราวด์ เพื่อย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลโดยพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคไฟเขียวแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า พวกเขา(พรรคร่วม)ให้ความ “เห็นชอบในหลักการ” เท่านั้น และมีเงื่อนไขถูกต้องตามกฎหมาย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี
นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุมครม. รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน ได้เห็นชอบหลักการกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป
“ส่วนข้อห่วงใยใดๆ เช่นประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธกส. ได้สั่งการหากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งทุกๆพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว โดยนายจุลพันธ์ จะชี้แจงในรายละเอียดต่างๆ หากสื่อมวลชนมีคำถาม” นายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวดิจิทัลวอลเล็ต สื่อมวลชนได้เตรียมซักถาม ขณะที่นายกฯ ได้รีบตัดบทจบการแถลงข่าวเรื่องดิจิทัลฯทันที ทำให้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถึงกับหัวเราะ และต่างเดินแยกย้ายกลับ ซึ่งจังหวะนี้ สื่อมวลชนได้พยายามให้ตอบคำถามต่อ โดยนายกฯ ระบุว่า ตนจะพูดเรื่องอื่นต่อ แต่เรื่องนี้จบแล้ว โอเคนะครับ ยังมีเรื่องอื่นอีกเยอะ หากจะถามเรื่องเงินดิจิทัล ไม่เป็นไรให้นายจุลพันธ์ อยู่รอก่อน พร้อมกับยกนิ้วชี้ขึ้นมาที่ปาก ทำสัญลักษณ์ให้เงียบ พร้อมระบุอีกว่า ยังมีเนื้อข่าวอีกเยอะไม่ต้องห่วง
ขณะที่ นายจุลพันธ์ ตอบคำถามถึงเหตุผลที่ยังไม่เคาะวันชัดเจนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ยังเคาะวันไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบด้วย แต่แน่นอนเราพยายามเร่งรัดที่สุดในกระบวนการทำทุกอย่าง แต่เราต้องรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของแอปพลิเคชัน ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลของประชาชนและราชการ รวมถึงการทำตัวเลขต่างๆ ต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย ฉะนั้นเราจะเร่งเกินไปโดยการไปกำหนดเวลาเพื่อบีบจนกระทั่งถึงเวลาแล้วเกิดปัญหาก็เป็นสิ่งที่เราไม่ปฏิบัติ ฉะนั้น ยังยืนยันตามกรอบเดิมลงทะเบียนในไตรมาส 3 และ เปิดใช้ในไตรมาส 4
เมื่อถามว่า มีการกำหนดประเด็นการถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องใดบ้าง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดประเด็น แต่นายกฯได้สั่งการในที่ประชุมครม. หากมีข้อสงสัยประเด็นใดก็ตามที่เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ให้ดำเนินการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ ธกส. และได้เคยให้ข่าวไปหลายครั้ง ได้ดูในรายละเอียดแล้วและมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่หากจะทำให้เกิดความกระจ่างชัด การสอบถามไปยังกฤษฎีกา เป็นสิ่งที่เราพร้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อถามว่าสรุปกระทรวงการคลังจะไม่ส่งให้กฤษฎีกา ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่ง ประเด็นใดก็ตามหากมีข้อสงสัยในข้อกฎหมาย มากกว่านั้นเราก็พร้อมที่จะส่งไป ไม่ได้มีประเด็น
เมื่อถามว่า สรุปคือ กระทรวงการคลังจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ธกส. มีอำนาจในการให้เงินหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้คงต้องส่งครับ เมื่อถามว่าได้นำเรื่องเข้าบอร์ด ธกส. เพื่ออนุมัติแล้วหรือยัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยัง ประเด็นของเรื่องนี้ขอเรียนว่า กระบวนการในการดำเนินการตาม มาตรา 28 เป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่ง เป็นการดำเนินการตามสิ่งที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง นโยบายนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ตามกรอบของ มาตรา 28 ซึ่งจะเริ่มต้นประมาณเดือนต.ค. คงจะใกล้ๆ ช่วงนั้น ถึงจะมีการพิจารณาผ่านบอร์ดและครม.อีกครั้ง ระหว่างวันนี้จนถึงเดือนต.ค. คงจะต้องดำเนินการอีกหลายๆ อย่างในรายละเอียดให้ครบถ้วน
ฟังการนำแถลงดังกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน เหมือนกับว่า มีความมั่นใจ มีความคืบหน้า แต่เอาเข้าจริง มันก็ยังไม่ชัวร์เหมือนเดิม ทั้งในเรื่องของการรับรองของพรรคร่วมรัฐบาล ในคณะรัฐมนตรี เพราะอย่างที่ได้ยินก็คือแค่ “เห็นชอบในหลักการ และต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย” เท่านั้น
อีกทั้งในประเด็นที่ต้องใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวนกว่า 1.72 แสนล้านบาทนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่า เงินกู้ เงินยืม หรือเงินทดรองจ่าย มันก็ยังหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ธกส. ที่ระบุไว้ชัดว่า
“มุ่งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตร หรือการดำเนินงานของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร สามารถประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตร ฯ” ซึ่งมันก็ชัดอยู่ในตัวแล้วว่า “ห้ามแจกเงินโดยตรง” และในความหมายที่แท้จริงสำหรับธนาคารก็คือ “ความช่วยเหลือ” ดังกล่าวมันก็คือการ “ให้กู้” ส่วนจะมีดอกเบี้ยเท่าไหร่นั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ที่บอกว่าทุกอย่างยังไม่ชัวร์ และรัฐบาลก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีกรอบ โดยเฉพาะในประเด็นการใช้เงินของ ธกส. รวมทั้งยังไม่กำหนดเวลาว่าจะส่งไปเมื่อไหร่ และยังไม่กำหนดเวลาว่าจะแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ได้เมื่อไหร่กันแน่ ที่บอกว่าให้รอรับได้เลยในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน
เมื่อพิจารณามาถึงตอนนี้ การที่รัฐบาลเคยประกาศเรื่องที่มาของวงเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท สำหรับนำมาแจกคนไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านคน โดยมาจากสามแหล่ง คือ เงินเหลือจ่ายจากงบประมาณปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท และการขยายกรอบงบประมาณปี 68 จนเกือบเต็มเพดาน อีก 152,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็จะเอามาจาก ธกส. อีกจำนวนกว่า 1.72 แสนล้านบาท ซึ่งอย่างหลังนี่แหละ ที่จะเป็นปัญหา ทำให้ไปไม่ถึง เพราะผิดกฎหมาย ผิดวัตถุประสงค์ของธนาคาร
แต่ถึงอย่างไร นาทีนี้ถือว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย คงหยุดไม่ได้แล้ว ต้องหาทางเดินหน้าต่อไป แต่คำถามก็คือจะเดินต่ออย่างไร ในเมื่อหนทางข้างหน้ามันเต็มไปด้วยขวากหนาม และเสี่ยงคุก ขณะเดียวกันแม้เดินหน้าด้วยนโยบายดังกล่าวเต็มไปด้วยคำถาม และข้อสงสัยมากมาย ทั้งในเรื่องความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยุ่งยาก และที่สำคัญเริ่มมองตรงกันแล้วว่า “เอื้อเจ้าสัว” เต็มๆ ส่วนชาวบ้านตัวเล็กเข้าถึงยาก ดังนั้นเหมือนกับว่าเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยก็ไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือ ซื้อเวลา แต่สุดท้ายก็คงไปไม่รอดอยู่ดี !!