วันนี้(24 เม.ย.)ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังพบหารือกับ ดร.นรีรัตน์ รัตนพรวิเศษกุล ประธานไทยพาวิลเลี่ยน Mr.Guo Han Xiong ประธานกรรมการบริษัท Hanlong Investment Group รวมทั้งผู้ประกอบการและนักธุรกิจจีน เพื่อร่วมผลักดันและส่งเสริมตลาดการค้าการลงทุนไทย-จีน ในประเด็นสินค้าเกษตรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คลังสินค้าด้านการเกษตร การขนส่งสินค้า ระบบโลจิสติกส์ การลงทุนในไทย และการแปรรูปสินค้าเกษตรไทย
ผู้แทนการค้า กล่าวว่า ผู้ประกอบการและนักธุรกิจจีนให้ความสนใจที่จะทำธุรกิจกับประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และไม้ยางพารา นักธุรกิจจีนมีความต้องการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา การนำเข้าไม้ยางพารายังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยในมณฑลกวางโจวเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่ในสุดของประเทศจีน มีความต้องการใช้ไม้ยางพาราเป็นจำนวนมาก มูลค่าการนำเข้าปีละประมาณ 4,800 ล้านหยวน และนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น โดยนักธุรกิจจากจีนต้องการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังได้หารือแผนการตั้งศูนย์การผลิตแบบครบวงจรในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งการออกแบบและการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทย หากได้รับการสนับสนุนไม้ยางพารา และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทย
ผู้แทนการค้ากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสินค้าเกษตร นักธุรกิจจีนมีความสนใจนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย ได้แก่ กระเทียม ขิง มันสำปะหลัง และมะพร้าวน้ำหอมของไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดผู้บริโภคของจีน โดยได้นำมะพร้าวน้ำหอมของไทย ไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม “ชาจีน+มะพร้าวไทย” ปัจจุบันตลาดผู้ประกอบการจีนใช้มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยเดือนละประมาณ 700,000 ลูกต่อเดือน และมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวน้ำหอมจากไทยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3,000,000 ลูกต่อเดือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าและอาหารทะเลจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผู้แทนการค้า ให้ความเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการและนักธุรกิจจีน ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับประเทศจีนเป็นลำดับแรก พร้อมกับเน้นย้ำว่า กระบวนการการทำธุรกิจ จะต้องถูกต้องตามกฎหมาย มีความปลอดภัย ได้สินค้าที่มีมาตรฐาน ที่สำคัญต้องสร้างความสมดุลระหว่างการนำเข้าส่งออกสินค้า ให้เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวก สนับสนุนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น และหวังพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของรัฐบาลกับรัฐบาล ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางการค้า FTA และการจับคู่ภาคเอกชนไทย-จีน ทำธุรกิจร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของไม้ยางพารา ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ไม่จำกัด พร้อมกับแนะนำให้ผู้ประกอบการนักธุรกิจจีนเข้ามาตั้งศูนย์การผลิตแบบครบวงจรในประเทศไทยเพื่อประหยัดต้นทุนการขนส่ง และการผลิต ซึ่งประเทศไทยมีนักออกแบบที่เก่ง และมีความเชี่ยวชาญจำนวนมาก สามารถช่วยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น