“ธีระชัย” ทำจดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการกฤษฎีกา ชี้ รัฐบาลล้วงเงิน ธ.ก.ส.แจกดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรด้านการประกอบอาชีพ ขณะที่แหล่งเงินจากงบปี 67 ก็ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แจ้งต่อสภาว่าจะนำเงินมาทำโครงการนี้ ซ้ำ มีข้อท้วงติงจากแบงก์ชาติว่าเสี่ยงที่จะผิด พ.ร.บ.เงินตราฯ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ทำจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาฯ กฤษฎีกา ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ เรื่อง ให้ข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับการตีความการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีรายละเอียดดังนี้
เรียน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตามที่ปรากฏข่าวใน Manager Online วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คกก. นโยบายโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (๒๓ เมษายน ๒๕๖๗) มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ และมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet
และในข่าวสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “.. โดยในเรื่องนี้ยืนยันว่า จะส่งให้กฤษฎีกาวินิจฉัยในเรื่อง ธ.ก.ส. มีอำนาจหน้าที่หรือไม่..” นั้น
ข้าพเจ้าเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเคยเป็นประธานกรรมการ ธ.ก.ส. ขอให้ข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของท่าน ดังนี้
๑. มาตรา ๙ (๑) (ค)
เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๙ บัญญัติการที่ ธ.ก.ส.จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้จะต้องเพื่อการประกอบอาชีพ หรือเพื่อพัฒนาความรู้ จึงไม่สามารถตีความเข้าลักษณะของโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet มีเหลือที่ต้องตีความอยู่อนุมาตราเดียวคือ มาตรา ๙ (๑) (ค) ซึ่งระบุว่า สำหรับการ “พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรืออาชีพอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร”
จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า โครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet จะเข้าข่ายเป็นการให้ความช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรได้หรือไม่
๒. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
พ.ร.บ.ธ.ก.ส. พ.ศ. ๒๕๐๙ และที่ต่อมามีการแก้ไขจนถึง ฉบับที่ ๗ นั้น หลักการและเหตุผลที่ระบุไว้ ฉบับที่ ๑ เน้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร ฉบับที่ ๒ เน้น ด้านการส่งเสริมอาชีพ ฉบับที่ ๔ เน้นกู้เงินไปเพื่อการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตร และฉบับที่ ๖ เน้น การทําหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบทไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน หรือการบริหารจัดการ ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการพัฒนาชนบท
หลักการและเหตุผลข้างต้นจึงแสดงเจตนารมณ์ในการตราและแก้ไขกฎหมายไว้ชัดเจนว่า
การที่ ธ.ก.ส.จะให้ความช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกรได้นั้น จะต้องเป็นกรณีเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร เพื่อการส่งเสริมอาชีพ เพื่อการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตร และ เพื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการพัฒนาชนบท ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตและรายได้การเกษตร หรือการส่งเสริมอาชีพ หรือการประกอบอาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในการเกษตร หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการพัฒนาชนบท จึงย่อมอยู่นอกเหนือเจตนารมณ์ของกฎหมาย
๓. เจตนารมณ์ของโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ไมใช่เพื่อการเกษตรหรือเพื่อเฉพาะเกษตรกร
ข้อความในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยระบุว่า
“กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ เติมเงินให้ทุกคนในระบบ ใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินดิจิทัล ๑๐,๐๐๐ บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน ๔ กิโลเมตร” จึงเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร
“พรรคเพื่อไทยมีความคิดทันสมัย และต้องการ “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน” โดยการเตรียมพร้อมประเทศและประชาชนให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมาตรการหลายๆ อย่าง ที่จะดำเนินการไปพร้อมกัน แต่เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจเราเดินตามไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงต้อง “ปั๊มหัวใจ” ของประชาชนเป็นอันดับแรก จึงเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “ใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)”” จึงเป็นนโยบายที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมให้แก่ประเทศ มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร
“คนไทยทุกคนที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป จะได้ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital Wallet)” จึงเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่แจกเงินแบบเหวี่ยงแหกระจาย มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร
“กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน ๖ เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้” จึงเป็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่กำหนดเวลาให้รีบใช้เงินเพื่อให้เกิดตัวเลขจีดีพี และเพื่อใช้อุปโภคบริโภคทั่วไปในสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร
“เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech” ก็ย้ำว่าเป็นนโยบายที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมให้แก่ประเทศ มิใช่ดำเนินการเพื่อพัฒนาการเกษตร
๔. เงื่อนไขของโครงการทำให้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ธ.ก.ส.
ข่าวใน Manager Online วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ ระบุว่า คกก.นโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ มีมติที่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในประเด็นต่อไปนี้
๔.๑ กรอบหลักการโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ถึงแม้ระบุว่ามี “วัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน” แต่เป็นการเน้นการอุปโภคบริโภคโดยซื้อของใช้ประจำวัน มิใช่สำหรับใช้ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือรายได้การเกษตร หรือส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตรหรือการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น
๔.๒ “เงื่อนไขการใช้จ่าย เช่น ให้ประชาชนใช้จ่ายแบบพบหน้า (Face to Face) เพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่เท่านั้น (การใช้จ่ายรอบที่ ๑)” ไม่ได้เน้นการคัดเลือกร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือรายได้การเกษตร หรือส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพ
๔.๓ “เงื่อนไขการถอนเงินสดจากโครงการ ของร้านค้า เช่น ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี” ไม่ได้เปิดให้มีการคัดเลือกร้านค้าที่อยู่นอกระบบภาษีแต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือรายได้การเกษตร หรือส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพ
๔.๔ โครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้แต่ต้นโดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้น การหาเสียงมิได้ระบุเจตนาเพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือรายได้การเกษตร หรือส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพแต่อย่างใด
ดังนั้น การหันมาให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการก็เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งเงินปกติได้พอเพียง และการใช้ ธ.ก.ส. เพียงเพื่อหาทางแก้ปัญหาแหล่งเงินจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จะมีผลส่งเสริมการดำเนินการของเกษตรกรด้านเพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือรายได้การเกษตร หรือส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการประกอบอาชีพ จึงเป็นการใช้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินการในเชิงหาทางออกให้แก่รัฐบาลเป็นสำคัญ
๕. แหล่งเงินจากงบประมาณปี ๒๕๖๗ ผิดกฎหมาย
อนึ่ง ข่าวระบุแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็น (๑) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ จำนวน ๑๕๒,๗๐๐ ล้านบาท (๒) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท และ (๓) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาท
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาทนั้นผิดกฎหมายซึ่งท่านสมควรตักเตือนแก่รัฐบาล เนื่องจากเหตุผลดังนี้
๕.๑ ในกระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ นั้น รัฐบาลน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่าโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet มีปัญหาด้านแหล่งเงิน แต่รัฐบาลกลับมิได้เปิดเผยโปร่งใสต่อรัฐสภา ดังนั้น การจะบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อให้ได้เงินจำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาทโดยไม่ได้นำโครงการเสนอต่อรัฐสภาเสียก่อนในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จึงไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและไม่ยึดหลักนิติธรรม ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง
๕.๒ การจะบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อให้ได้เงินจำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาทนั้น ถ้าเบียดเบียนออกจากงบประมาณด้านอื่นที่ผ่านการพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ก็จะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายงบประมาณที่เพิ่งผ่านรัฐสภา และถ้าเบียดเบียนออกจากงบกลางก็จะทำให้ไม่เหลืองบกลางสำหรับกรณีฉุกเฉิน ภัยพิบัติ หรือภัยสงคราม อันเข้าข่ายเป็นการบริหารประเทศอย่างประมาทเลินเล่อ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง
๖. ข้อทักท้วงจากธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการเป็นเงินตรา
ปรากฏในข่าวฐานเศรษฐกิจวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๗ ดังต่อไปนี้
๖.๑ “สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑๐,๐๐๐ บาท จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑”
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ถึงแม้รัฐบาลจะระบุแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ แต่การที่จะมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการได้ตามความเห็นของผู้ว่าการฯ นั้น จะต้องสามารถระบุได้ลงไปถึงแต่ละโครงการที่จะยกเลิกหรือชะลอเป็นรายโครงการ ให้มีจำนวนเงินรวมตามที่ต้องการ มิใช่เพียงแต่ระบุว่าจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายปีใด
นอกจากนี้ กรณีที่เติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ในรูปแบบโทเคนนั้น เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ต้องการให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรเพียงแต่กำหนดขอบเขตพื้นที่ในการใช้รอบแรก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า โทเคนดังกล่าวเป็นการเรียกชื่อผิด เพราะโดยเนื้อหาทางเศรษฐกิจเข้าข่ายเป็นคริปโทเคอเรนซีตามพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๓ ซึ่งเข้าข่ายเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๙ จะต้องยื่นขออนุญาตจากรัฐมนตรีผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยในเงื่อนไขนี้อีกด้วย
๖.๒ “การให้ ธ.ก.ส.ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. ๒๕๐๙ ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นธนาคาร จึงไม่มีหน้าที่แจกเงินฟรี เงินที่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากต้องให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังต้องมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราตลาด ซึ่งไม่ปรากฏว่าโครงการได้คำนึงถึงประเด็นนี้
ข้าพเจ้าจึงขอปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามมาตรา ๕๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แจ้งข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านในการพิจารณา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง