xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมิ้ง” เผย “เศรษฐา” ยกเลิกไปชายแดนพม่า “ปานปรีย์” ลงแทน ย้ำ ห้ามรบรุกล้ำไทย ยึดหลักสากลดูแลลี้ภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขานายกฯ เผย “เศรษฐา” ยกเลิกไปชายแดนแม่สอด พรุ่งนี้ มอบ “ปานปรีย์” ลงแทน ลั่นจุดยืนรบ. ไม่ปล่อยสู้รบรุกล้ำดินแดนไทย นายกฯ ตั้ง คกก.เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์ ยํ้า พร้อมดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักสากล เป็นคนกลาง เจรจายุติรุนแรง

วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา บริเวณชายแดนไทย ว่า ในฐานะรัฐบาล เรากำหนดจุดยืนชัดเจนว่า 1. การสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังติดอาวุธ จะไม่ให้มีการล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทย

2. รัฐบาลประเทศไทย ยังคงให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามปฏิญญาที่ได้หารือร่วมกัน ตามหลักของสหประชาชาติ

3. เนื่องจากสถานการณ์นี้ มีความเกี่ยวข้องกันมากมาย ซึ่งเดิม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเดินทางไปในพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ล่าสุด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยนายกฯ มอบหมายให้นายปานปรีย์ เดินทางไปในพื้นที่แทน

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ตนได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ทราบว่าจะร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อไปช่วยดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็จะลงพื้นที่ เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และมารับบริการในโรงพยาบาลของประเทศไทย เราก็จะดูแลอย่างดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีวิธีการดูแลผู้ลี้ภัยอย่างไร นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราจะดูแลประชาชนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาหลบภัย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เขาก็จะเดินทางกลับไป อย่างไรตาม สถานการณ์เปลี่ยนแปลงวันต่อวัน ยํ้าว่า จะไม่ให้การสู้รบกระทบเข้ามาในเขตแดนไทย ซึ่งทางกองทัพต้องเข้มงวดในเรื่องนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีกองกําลังติดอาวุธรุกล้ำเข้ามาแน่นอน

เมื่อถามว่า ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในการดูและผู้ลี้ภัยหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราพร้อมให้การช่วยเหลือตามมนุษยธรรมอยู่แล้ว แต่จะมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มาร่วมด้วย รวมถึงประเทศต่างๆ ที่พร้อมจะสนับสนุน แต่ในส่วนประเทศไทย ได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะมีจุดรองรับผู้ลี้ภัยหลายจุด แต่ละจุดก็มีการปรับปรุง ซึ่งรายละเอียดปฏิบัติการต่างๆ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด จะประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เรื่องนี้มีมาตรฐานในการปฏิบัติอยู่แล้ว และล่าสุด ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่นายกฯ จะเป็นคนกลางเจรจากับทุกกลุ่มในเมียนมาหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า จุดยืนสำคัญคือการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ดำเนินทุกวิถีทางให้มีการยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นบทบาททางสากล ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ก็คาดหวังว่าเราจะมีบทบาทคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ อย่างสันติวิธี

เมื่อถามว่า มีสัญญาณจากรัฐบาลทหารพม่าหรือกำลังติดอาวุธ ในการเจรจายุติการสู้รบหรือยัง นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ในทางการทูต คงมีการพูดคุยกัน แต่ไม่มีข้อเรียกร้องโดยตรง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะดูแลเรื่องนี้

เมื่อถามว่า มีเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราดูแลผู้ลี้ภัยมานานแล้ว ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นหลักสากลที่เรายึดถือ เพราะฉะนั้นยังไม่มีเรื่องอะไรผิดปกติ

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการค้าขายบริเวณชายแดน ที่อาจจะมีพ่อค้าชาวไทยติดค้างอยู่ฝั่งเมียนมานั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะพยายามช่วยเหลือ ขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลอย่างใกล้ชิด และอยากให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ที่นายปานปรีย์เป็นประธานนั้น มีรายชื่อคณะกรรมการ ได้แก่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการคนอื่น อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น