“วิโรจน์” เห็นด้วย “สุทิน” เสนอแก้กฎหมายปรับสภากลาโหม-กำหนดคุณสมบัติแต่งตั้งนายพล แนะถ้าแก้ต้องแก้ให้ถึงแก่น ให้กองทัพยุติการเป็นรัฐซ้อนรัฐ แต่อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ตัดอำนาจสภากลาโหมครอบงำการตัดสินใจของ ครม. ส่วนศาลทหารควรถูกใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น ด้าน “ธนเดช” หนุนตัดทิ้งซูเปอร์บอร์ด
วันนี้ (21 เม.ย.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวถึงกรณีการประชุมสภากลาโหม เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่ง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานสภากลาโหม ได้มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ว่า เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพียงแต่มีจุดที่ขอเสนอแนะเพิ่มเติมให้แก่ รมว.กลาโหม
กล่าวคือ การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จะต้องแก้ไขให้ตรงจุด โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้กองทัพยุติการเป็นรัฐซ้อนรัฐและต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน สภากลาโหมควรมีกรอบอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น สิทธิในการทักท้วงควรจะมีเฉพาะในประเด็นสำคัญเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจครอบงำการตัดสินใจของรัฐมนตรี ดังนั้น จำนวนสมาชิกในสภากลาโหม นอกจากจะปรับลดลงแล้ว ยังควรเพิ่มสัดส่วนของพลเรือนในสภากลาโหมให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล สมควรที่จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส
สำหรับ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร หัวใจสำคัญคือการให้บทบาทกับศาลยุติธรรมให้มากขึ้น ศาลทหารควรถูกใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น และโครงสร้างของศาลทหาร จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ เพราะหากศาลทหารถูกตั้งข้อสงสัยจากนายทหารว่าไม่มีความเป็นธรรม หรือสามารถวิ่งเต้นใช้อำนาจระดับบังคับบัญชาแทรกแซงได้ ก็เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความรุนแรงและระบบศาลเตี้ยในแวดวงทหาร เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา
“การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะต้องแก้ไขให้ถึงแก่น ถ้าแก้ไขแบบผิวๆ จะเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก” นายวิโรจน์ กล่าว
ด้าน นายธนเดช เพ็งสุข ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอชื่นชมและสนับสนุนการเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ตนหวังอยากเห็นความกล้าหาญและความจริงใจของ รมว.กลาโหม ในการเดินหน้าปฏิรูปกองทัพ หรือจะเรียกว่าพัฒนาร่วมกันตามคำของนายกฯ ก็ตาม
ทั้งนี้ ในร่างของพรรคก้าวไกล เราเสนอแก้ไขมาตรา 25 เช่นกัน ให้การพิจารณาแต่งตั้งนายพลดำเนินการด้วยระบบคุณธรรม คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานของตำแหน่งต่างๆ โดยกำหนดให้คณะกรรมการที่ส่วนราชการตั้งขึ้นพิจารณาในขั้นตอนแรก แล้วส่งต่อให้ รมว.กลาโหม พิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง ตัดสิ่งที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” ในกฎหมายเดิม ซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อลดบทบาทของ รมว.กลาโหม ให้เป็นเหมือนตรายางรับรองเท่านั้น
“ประเด็นนี้สำคัญตรงที่ว่าหากคุณสุทินไม่ตัดทิ้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อดึงอำนาจกลับมาที่ รมว.กลาโหม อาจแปลได้ว่าสุดท้ายความมุ่งหวังที่อยากเห็นกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนผ่านความพยายามแก้ไขกฎหมาย ก็อาจเลือนราง”