โฆษกรัฐบาลย้ำเตือนประชาชน รู้ทัน ไม่หลงเชื่อกลโกงมิจฉาชีพ ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนทำธุรกรรม ป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
วันนี้ (20 เม.ย.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากกรณีที่ยังพบมีการหลอกลวงประชาชนจากมิจฉาชีพอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดข้อมูลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 8-12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) มีรายงานเคสตัวอย่างที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เช่น หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 188,000 บาท หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) หลอกลวงซื้อขายสินค้า หรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ ผู้เสียหายพบโฆษณาที่ผ่านช่องทาง Facebook เพจชื่อ “Bangsaen Cabana” กรณีดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ขอให้ระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงมิจฉาชีพที่มีในหลากหลายรูปแบบ และอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุนแล้วเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง โดยให้มีการตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนทำธุรกรรม ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ สามารถโทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชีได้ที่ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 ตลอด 24 ชม.
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องประชนชน ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุก ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างมีความสุข อย่าให้ถูกซ้ำเติมโดยเฉพาะการถูกหลอกหลวง เงินหมดไปก็เป็นส่วนหนึ่งของอาชญากร ตรงส่วนนี้ถือเป็นสารตั้งต้นที่ต้องขจัดปัญหานี้ออกไปให้หมดจากสังคมไทย หากประชาชนพบเจอเหตุการณ์ดังกล่าว ขอให้มีสติทุกครั้งเมื่อรับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย คิดทบทวน หากไม่แน่ใจ ให้หยุดการสนทนา และหาข้อมูลหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง เพื่อโทรติดต่อสอบถามความจริง และหากประชาชนพบเจอ ขอให้ร่วมกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล หรือโทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชีกับศูนย์ AOC 1441” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 545,620 สาย/เฉลี่ยต่อวัน 3,327 สาย 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 112,699 บัญชี/เฉลี่ยต่อวัน 924 บัญชี 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 33,954 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 30.13 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 24,192 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 21.47 (3) หลอกลวงลงทุน 20,361 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 18.07 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 9,406 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 8.35 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 7,376 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 6.54 และคดีอื่น ๆ 17,410 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 15.45 และ 4. ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย. 66 - 14 เม.ย. 67) ข้อมูลของทั้งประเทศจาก ตร. (บช.สอท) (1) ยอดขออายัด 8,447,094,202 บาท (2) ยอดอายัดได้ 4,055,094,202 บาท (3) อายัดได้ร้อยละ 48.01