xs
xsm
sm
md
lg

จ่อไฟเขียว อปท.ทั่วประเทศ จัดเก็บเพิ่ม "ค่าปักเสา พาดสาย วางท่อ" ทั้งรัฐ-เอกชน บนเขตทางหลวงท้องถิ่น 8 แสนเส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย จ่อไฟเขียว อปท.ทั่วประเทศ จัดเก็บเพิ่ม "ค่าใช้เขตทางหลวงท้องถิ่น" มากกว่า 8 แสนเส้นทาง จากภาครัฐ-เอกชน ที่เข้าใช้ประโยชน์ริมสองฝั่งถนนทางหลวงท้องถิ่น ทั้งการเข้า ปักเสา พาดสาย วางท่อ เฉพาะติดตั้ง "ป้ายบอกทาง" อัตราสูงสุด 124,000 บาทต่อปี ค่าวางท่อเฉพาะท่อระบายนํ้า สูงสุด กม.ละ 142,300 บาทปี ท่อสายไฟ สูงสุดกม.ละ 2,900 บาท/ปี ท่อเชื้อเพลิง กม.ละ 14,200 บาท/ปี ท่อร้อยสายสื่อสาร 3,400 บาท/ปี

วันนี้ (19 เม.ย.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ

แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าใช้เขตทางหลวงท้องถิ่น พ.ศ..ตั้งแต่ 22 เม.ย. ถึง 10 พ.ค. นี้

ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อดำเนินการ ตามมาตรา 47 และมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549

บัญญัติให้ผู้ได้รับอนุญาตให้สร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวง หรือรุกลํ้าเข้าไปในเขตทางหลวง

และผู้ได้รับอนุญาตให้ปักเสา พาดสาย วางท่อ หรือกระทำการใดๆ ในเขตทางหลวง ต้องชำระค่าใช้เขตทางหลวง ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ร่างกฎกระทรวงฉบับ ระบุถึง กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวงใช้พื้นที่ในเขตทางหลวง ให้ชำระค่าใช้เขตทางหลวง

(1) กรณีใช้เพื่อกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้บริการได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการ ให้ชำระค่าใช้เขตทางหลวงในอัตรา 500 บาท ต่อการอนุญาตแต่ละครั้ง

(2) กรณีใช้เพื่อกิจกรรมเพื่อให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการใช้เพื่อให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน

โดยประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้บริการได้และถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการ ดังนี้

(ก) กิจกรรมของหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์แก่งานทาง ให้ชำระค่าใช้เขตทางหลวงในอัตรา 500 บาท ต่อการอนุญาตแต่ละครั้ง

(ข) กิจกรรมของผู้ได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวงอื่นนอกจาก (ก) ให้ชำระค่าใช้ เขตทางหลวงเป็นรายปี ในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดท้ายกฎกระทรวงนี้

(3) กรณีใช้เพื่อกิจกรรมเพื่อมุ่งหวังประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการใช้เพื่อแสวงหากำไร หรือเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวงให้ชำระค่าใช้เขตทางหลวงเป็นรายปี ในอัตราที่กำหนดท้ายกฎกระทรวงนี้

สำหรับ การชำระค่าใช้เขตทางหลวงเป็นรายปี ในปีแรก ให้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวง

สำหรับในปีต่อไป ให้ชำระไม่เกินวันครบกำหนดรอบปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ การคำนวณพื้นที่ หรือความยาวเพื่อชำระค่าใช้เขตทางหลวง ให้คำนวณพื้นที่หรือความ ยาวตามความเป็นจริง

โดยเศษของพื้นที่ไม่ถึงหนึ่งตารางเมตร ให้คิดเป็นหนึ่งตารางเมตร และเศษของความยาวไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ให้คิดเป็นหนึ่งกิโลเมตร

ซึ่งบรรดาค่าไข้เขตทางหลวงตามกฎกระทรวงนี้ให้เป็นรายได้ของราชการส่วนทองถิ่น

สำหรับ กรณีการชำระเป็นรายปี ให้ผู้ได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวง ชำระค่าใช้เขตทางหลวงตามอัตราที่กำหนด ในรอบปีถัดไปภายหลังที่กฎกระทรวงนี้ใข้บังคับโดยในปีแรก

ให้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตรงกับวันครบรอบปีของวันได้รับอนุญาตใช้เขตทางหลวง สำหรับในรอบปี ต่อไปการชำระค่าใช้เขตทางหลวง

สำหรับ อัตราค่าใช้เขตทางหลวงชำระเป็นรายปี ระบุในท้ายร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าใช้เขตทางหลวงท้องถิ่น พ.ศ.. ที่น่าสนใจ เช่น

กรณี "อัตราป้ายบอกทาง" ป้ายชี้ทาง ชำระป้ายละ 7,000 บาทต่อปี ป้ายติดตั้งข้างทาง ป้ายละ 11,000 บาทต่อปี

ป้ายชนิดแขวนยื่น ป้ายละ 44,000 บาทต่อปี ป้ายชนิดคร่อมผิวจราจร ป้ายละ 124,000 บาทต่อปี

ขณะที่ อัตราค่าใช้ "เขตสะพาน" ตารางเมตรละ 1,600 บาทต่อปี อัตราค่าใช้"ในอุโมงค์" ตารางเมตรละ 110 บาทต่อปี

อัตราค่าใช้ "บนระบบราง" อยู่เหนือผิวดินขึ้นไป ตารางเมตรละ 1,600 บาทต่อปี และระบบรางอยู่ใต้ผิวดินลงไป ตารางเมตรละ 110 บาทต่อปี อัตราค่าพาดสายไฟฟ้า (ต่อ 1 เส้น) สูงสุดกิโลเมตรละ 310 บาท/ปี

รวมถึง อัตราค่าวางท่อระบายนํ้าหลายชนิด สูงสุดกิโลเมตรละ 142,300 บาทปี อัตราการวางท่อสายไฟฟ้าหลายชนิด สูงสุด กิโลเมตรละ 2,900 บาท/ปี

อัตราการวางท่อเชื้อเพลิงหลายชนิด สูงสุดกิโลเมตรละ 14,200 บาท/ปี อัตราการวางท่อร้อยสายโทรคมนาคมหลายชนิด สูงสุดกิโลเมตรละ 3,400 บาท/ปี เป็นต้น.

สำหรับทางหลวงท้องถิ่น ที่อยู่ในกำกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ พบว่า ในปี 2566 มีอยู่ในความรับผิดชอบจำนวนมากถึง 799,447 สายทาง.


กำลังโหลดความคิดเห็น