ประธาน กกต.เตือนเลือก ส.ว.ใหม่ ห้ามฮั้วเลือกผู้แทน ขู่ใช้มาตรการเข้ม มั่นใจจับได้ชัวร์ ชี้ โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ตัดสิทธิการเมืองอีก 10 ปี ระบุแคมเปญ “ก้าวหน้า” ชู 1 ครอบครัว 1 ส.ว. เบื้องต้นยังไม่ขัด กม.
วันนี้ (19 เม.ย.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศ กกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว. ตั้งใจว่า จะส่งไปในวันที่ 23 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กกต.ได้มีการจัดอบรมชี้แจงให้ตัวแทน กกต.ประจำจังหวัดหรือรอง ผอ.กกต.จังหวัด หัวหน้ากลุ่มงานจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม และพนักงานการเลือกตั้งในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เพื่อตรวจการเลือก ส.ว. ทั้งการสมัคร การเลือก และการนับคะแนน และขอให้ทุกคนใช้ความพยายามในการศึกษากฎมาย ระเบียบ ประกาศต่างๆ รวมถึงหลักต่างๆ ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้ถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานต่อไป ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่า มีปัญหาอะไร ซึ่งเมื่อมีการนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่อาจจะยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
เมื่อถามว่า เราจะมีมาตรการป้องกันการฮั้วกันของผู้สมัครที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้นอย่างไร นายอิทธิพร กล่าวว่า ถ้าอย่าฝ่าฝืนกฎหมายกันได้ก็อย่าฝ่าฝืนเลย ส่วนจะป้องกันอะไรบ้างนั้นตามกลไกกฎหมายคือการกำหนดค่ารับสมัครในระดับที่ไม่ได้ต่ำหรือสูงเดินไป นั้นจะเป็นปัจจัยในการจะฮั้วกันหรือไม่ ประการที่สอง คือ จัดให้มีการเลือกแบบไขว้กันจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงจะฮั้วกันยาก และ กกต.ยังมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เราตั้งขึ้นชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เลือก ส.ว.ด้วยเช่นกัน หน้าที่หลักคือตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดให้มีการเลือกว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งมีชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งเป็นตำรวจที่คุ้นเคยพื้นที่ดีจะเป็นการช่วยสอดส่องการฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมาสมัครเป็นผู้แทนประชาชนในจิตสำนึกก็พยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ให้เริ่มต้นจากการเป็นผู้สมัครที่ดีต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย
เมื่อถามถึงกรณีคณะก้าวหน้ารณรงค์ให้ประชาชนลงสมัครเลือก ส.ว. เข้าข่าย จำเป็นต้องตักเตือนหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าว ไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยงในขณะนี้ เพราะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่ตนก็ได้รณรงค์มาตลอด ซึ่งหากมีการสมัครเยอะ การแข่งขันก็จะยิ่งเยอะ และทำให้การแข่งขันมีคุณค่า ซึ่งตนเห็นว่า การเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสิ่งที่น่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป แต่เตือนว่า ทำอะไรก็อย่าไปฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าสงสัยอะไรแนะนำให้มาคุยกับ กกต.ก่อนในทุกๆ เรื่อง ซึ่งคำตอบของเรา อาจจะทำให้การกระทำที่สุ่มเสี่ยงไม่เกิดขึ้น
เมื่อถามต่อว่า คณะก้าวหน้าที่มีการชูนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ส.ว.” จะทำให้ผิดเจตนารมณ์ของการเลือก ส.ว. หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เบื้องต้น 1 ครอบครัว 1 ส.ว. เป็นการรณรงค์ให้มีการสมัคร อาจจะเป็นคอนเซปต์ที่ฟังง่าย ให้คนฉุกคิดว่า เราในฐานะที่เป็นคนไทย เรามีคุณสมบัติ และมีความประสงค์ที่จะสมัครหรือไม่ และทำงานเพื่อประเทศ เรื่องนี้ไม่ถึงขั้นมีความสุ่มเสี่ยง ซึ่งถ้าสุ่มเสี่ยงก็ต้องรับฟังกรอบความเห็นของสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ตอบรับแคมเปญแล้วมีผู้สมัครหลักแสนคนนั้น ทางกกต.ต้องสามารถรับมือได้อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรก ว่าจะมีผู้สมัครหลักแสนคน และ กกต.ก็มีแผน 1 แผน 2 ตอนนี้ บัตรเลือกตั้งมีการกำหนดรูปแบบก็กำหนดไว้ในท้ายระเบียบ ส่วนสีบัตรการเลือกในแต่ละระดับนั้น ให้ เลขาฯ กกต.เป็นผู้พิจารณาเลือกสี ทั้งนี้ บัตรเลือก ส.ว.จะพิมพ์ 2 รอบ รอบแรก พิมพ์ตามจำนวนที่เราคาดการณ์ไว้ และอีกรอบ จะจัดพิมพ์เมื่อเห็นตัวเลขผู้สมัครแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการสมัคร ส.ว. จะเป็นการยื้อเวลาการทำหน้าที่ของ ส.ว.ชุดปัจจุบันหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนไม่คิดว่า จะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เมื่อเราจัดการเลือกระดับประเทศเสร็จแล้ว กฎหมายก็ให้รอ 5 วัน เผื่อจะมีการยื่นร้องเรียน และถ้ามีการร้องเรียนก็ต้องร้องภายใน 3 วัน หลังจากวันที่เลือก ซึ่ง กกต.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 วัน ส่วน กกต.จะมีการสั่งให้เลือกในวันไหนนั้น กรณีที่มีการเลือกซ่อม โดยหลักก็ต้องทำให้เร็ว เพราะฉะนั้นจะไม่ทำอะไรที่เป็นการขวาง
“ณ เวลานี้ผมไม่คิดว่า จะมีการทำให้เลื่อน การเลื่อนต้องมีเหตุตามกฎหมาย และชัดเจน ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่อยากจะสันนิษฐานว่าเลื่อนออกไปเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ หากมีพระราชกฤษฎีกา เราก็ต้องทำตามตารางของเรา เราไม่ได้คิดเป็นอื่น” นายอิทธิพร กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการยื่นต่อศาล และศาลมีคำสั่งให้ชะลอไปก่อน นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นกระบวนการศาล ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า จะเป็นอย่างไร เพราะศาลมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาล และหากมีการส่งเรื่องไปศาลก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์ ส่วนกรณี นายธีระยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ทางผู้ตรวจฯ ก็จะมีกระบวนการการพิจารณาอยู่ว่า ควรส่ง หรือไม่ควรส่งเรื่อง
เมื่อถามว่า หากมีการรับจ้างสมัครเข้าไปเลือกผู้สมัคร ส.ว.คนอื่น นายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องนี้มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้ว ทาง กกต.ก็ได้หารือกันถึงเรืองนี้ ถ้าทำจริงก็ถือว่ามีความผิด ทั้งจำทั้งปรับและตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ย้ำว่า การไม่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งกฎหมายออกแบบให้ป้องกันเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง กกต.ก็มีกลไกระดับหนึ่ง ถ้าตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะรอด ไม่มีใครจับได้ เพราะสมัยนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เยอะ ช่องทางการตรวจสอบก็เยอะ ดังนั้น อย่าเสี่ยง
เมื่อถามว่า มาตรการป้องกันการฮั้วกันของผู้สมัคร จะทันเกมโกงคนที่จะฮั้วหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เราพยายามทำให้ทัน ซึ่งเรามีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เขากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยวิธีการใดการหนึ่งก็ต้องหาวิถีทางทุกได้ ส่วนจะทันเกมโกงหรือไม่รอดูวันเลือก
เมื่อถามว่า แม้เงื่อนไขจะระบุว่าผู้สมัครไม่ให้ลงสมัครในนามพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรค แต่ในทางปฏิบัติพรรคอาจจะลงคนมาสมัคร นายอิทธิพร กล่าวว่า อย่างที่บอกกฎหมายไม่ให้ทำเช่นนั้น และถ้าทำแล้วเรามีหลักฐานก็ต้องรับผิด เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โทษของการฝ่าฝืนกฎหมายมีทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ฉะนั้น อย่าเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลย และถ้าไม่แน่ใจก็สอบถามได้
เมื่อถามย้ำว่า ความผิดถ้าทำจะผิดเฉพาะคนสมัครหรือพรรคการเมืองด้วย นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้สมัคร และมีคำว่าผู้ใดระบุไว้ด้วย คือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง กรรมการบริหารพรรค ผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง ส.ส. สมาชิกท้องถิ่น