โฆษกรัฐบาลเผย ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำตามมติคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2550) เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร) ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. โดยให้ถือใช้ข้อความตามที่ปรับปรุงแล้ว แทนข้อความเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กค. รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มกราคม 2550) ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้วางกรอบแนวปฏิบัติ เพื่อให้ส่วนงานในพื้นที่ดำเนินการ เรื่อง การงดการดำเนินคดีบังคับคดีและการขายทอดตลาด โดยการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ในการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดี และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายได้ใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทางตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ
กค. จึงมีความจำเป็นต้องขอเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมีรายละเอียดการขอทบทวนปรับปรุงในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้
1. ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการ ดังนี้
1.1 เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน เว้นแต่กรณีหนี้นั้นจะขาดอายุความฟ้องร้อง หรือไม่สามารถแก้ไขเพื่อมิให้หนี้ขาดอายุความโดยวิธีอื่นใดได้
1.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้และไม่สามารถเจรจาแก้ไขหนี้ร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป
1.3 คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน เฉพาะกรณีที่ยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดีเท่านั้น โดยเมื่อมีการชะลอการขายทอดตลาดแล้วจะต้องมีอายุบังคับคดีคงเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.3 ข้างต้นได้ โดยพิจารณาถึงสภาพปัญหาของลูกหนี้เกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ