เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา จะมีความชัดเจนไปแล้วว่ารัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้า “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหนึ่งหมื่นบาท แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแบบกลับไปกลับมาบ้าง แต่ก็ยังยืนยันว่า “แจกแน่” ส่วนที่บอกว่า จะให้รอรับในช่วงไตรมาส 4 หรือปลายปี แต่ยังไม่ยืนยันว่า เป็นวันไหน เดือนไหนกันแน่ แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะหากใช้วิธีพูดไปเรื่อยแบบซื้อเวลา ถึงเวลาแล้วเบี้ยว ก็ต้องโดนแน่ ดังนั้น เอาเป็นว่ารอรับเงินก็แล้วกัน
อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งที่มาของเงินที่จะหาให้ครบจำนวน 5 แสนล้านบาท สำหรับการแจกว่านำมาแจกไหน และเป็นการเล่นแร่แปรธาตุแบบซิกแซก เลี่ยงกฎหมาย ทำทุกทางเพื่อให้ได้ครบจำนวนสำหรับนำมาแจกตามที่ได้หาเสียงเอาไว้กับชาวบ้าน
จากการแถลงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมงาน เช่น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงการคลัง เกี่ยวกับที่มาของเงิน รวมไปถึงเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินดังกล่าว พอสรุปสั้น ซึ่งหากให้เข้าใจง่ายๆ ก็ต้องพิจารณาจากโพสต์ของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ชี้ให้เห็นแหล่งที่มาของงบประมาณที่มาจาก 3 แหล่ง คือ กู้เพิ่มจากงบประมาณปี 68 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ และจากกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) 1.75 แสนล้านบาท รวมทั้งจากเงินเหลือจ่ายส่วนราชการและงบกลาง ปี 67 อีก 1.75 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี คำถามก็คือ เงินกู้จาก ธ.ก.ส. เป็นการใช้นโยบายกึ่งการคลัง โดยให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินไปก่อน รัฐบาลต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังไม่ตอบผู้สื่อข่าวว่า ดอกเบี้ยเท่าไร แล้วจะใช้คืนในกี่ปี
จากการแถลงดังกล่าว บอกว่าประชาชนจะใช้เงินได้จริงในเดือนตุลาคม 2567 แต่ต้องซื้อกับร้านค้าย่อยในอำเภอ โดยร้านค้าย่อย ต้องออกเงินซื้อสินค้ามาก่อน เมื่อร้านได้เงินดิจิทัลมาแล้ว ไม่สามารถนำมาเบิกเงินสดจากรัฐได้ แต่ต้องไปซื้อจากร้านค้าใหญ่ มาทดแทนสินค้าเดิม ร้านค้าใหญ่ ได้เงินดิจิทัลแล้วจึงมาเบิกจากรัฐได้
หลายคนสงสัยคำว่า “ร้านค้าย่อย” นั้นหมายรวมถึง “ร้านสะดวกซื้อ” ใช่หรือไม่ รวมไปถึงร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในระบบภาษี ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ หากเป็นแบบนั้นก็หมายความว่า บรรดาร้านค้าริมทาง ร้านโชห่วย ตามหมู่บ้านในชนบท จะเข้าไม่ถึง
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า อยากฝากไปยังรัฐบาลว่า เมื่อมีการยืนยันว่าไตรมาส 4 จะไม่เลื่อนแน่นอน ตนอยากจะเห็นแผนงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน ไม่ว่าจะเป็นออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี จะทำเมื่อไหร่ และยังมีเรื่องการพัฒนาระบบซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแอปพลิเคชัน เป๋าตัง แต่มีการทำแอปฯใหม่ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล เป็นคนจัดทำนั้น จะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะกระบวนการทำระบบ จำเป็นต้องมีการทดสอบระบบก่อนที่จะใช้งานได้จริง เพราะหากใช้จริงแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเยอะ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเช่นเดียวกัน
ส่วนรายละเอียดของการใช้จ่าย ที่มีการแก้ไขไปในทางที่ดีในการที่ระบุว่า ให้ใช้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม “ร้านค้ารายเล็ก” เรายังได้ยินไม่ชัดเจนว่าตกลง “ร้านสะดวกซื้อ” เป็น “ร้านค้าขนาดเล็ก” หรือไม่ และ “ร้านขนาดเล็ก” ลงมาแล้วรวม “ร้านสะดวกซื้อ” หรือไม่ เพราะกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือต้องใช้ 2 รอบ แล้วจึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่แลกได้ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจจะทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องไปใช้จ่ายต่อแต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก และหากสุดท้ายร้ายค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นเรื่องแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ที่มาจาก 3 ทางคือ งบเหลือจ่าย 67 งบ 68 และ เงิน ธกส. ตาม ม.28 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่า กรณีการใช้เงิน จาก ธกส. โดยให้ ธกส.สำรองจ่ายไปก่อน แล้วรัฐบาลค่อยใช้คืนทีหลัง ตาม ม.28 ก็คือการ “กู้ ธกส.มาแจก”นั่นเอง ก็อปปี้วิธีการของโครงการจำนำข้าวมาทั้งดุ้น พูดง่ายๆ คือมาจาก DNA เดียวกัน เพราะจำนำข้าว ก็คือให้ ธกส.สำรองเงินไปรับจำนำข้าวจากชาวนาก่อน แล้วรัฐบาลค่อยใช้คืนทีหลัง ซึ่งขาดทุนตั้งแต่นับหนึ่ง เพราะราคาข้าวในตลาดตันละไม่ถึงหมื่น แต่ให้ไปรับจำนำตันละหมื่นห้า ทุกๆ ตันจึงขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ จนทำให้ขาดทุนรวมไป 6-700,000 ล้าน และจนวันนี้ยังใช้หนี้ไม่หมด ยังเหลือหนี้ค้าง ธกส. อยู่อีก 200,000 กว่าล้านบาท ซึ่งกรณี ดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะให้ ธกส.สำรองแจกไปก่อน จึงมาจาก DNA เดียวกัน
โดยรัฐบาลจะต้องมีภาระหนี้ กับเฉพาะ ธกส. เพิ่มอีกตามที่ รัฐบาลแถลง 172,300 ล้านบาท รวมกับหนี้เก่าจำนำข้าว อีก 200,000 กว่าล้านบาท ก็จะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้ ธกส. เฉพาะ 2 โครงการ ทั้งที่ยังคงค้างอยู่ และจะสร้างใหม่ รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจนวันนี้ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะมีแผนชำระหนี้เฉพาะหนี้ ธกส. ที่จะกู้มาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไร
แน่นอนว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เต็มไปด้วยคำถาม และเสี่ยงต่อการทุจริต ได้ไม่คุ้มเสีย รวมไปถึงการสร้างภาระหนี้ให้กับชาวบ้านไม่รู้จบ เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีซิกแซกเพื่อหาเงินมาใช้ในโครงการ ทั้งจากเงินงบประมาณที่ตั้งงบขาดดุลแบบมโหฬาร การนำเงินจากงบกลาง ซึ่งทั้งสองอย่างดังกล่าว เหมือนกับการทุ่มลงไปแบบสุดตัว ไม่เหลือเผื่อเอาสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุเพทภัยแบบไม่คาดหมาย รวมไปถึงการยืมเงินจาก ธกส. ที่ยังไม่บอกว่า ต้อง “เสียดอกเบี้ย” เท่าไหร่ และจะใช้คืนเมื่อไหร่กันแน่ ทุกอย่างอมพะนำ นี่ยังไม่นับกรณีเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ธกส. เนื่องจากอาจเข้าข่ายการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งกรณีหลังนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะใช้วิธีแจกเฉพาะเจาะจงในส่วนของเกษตรกรเท่านั้น
หากให้ประเมินกันแบบเข้าใจนาทีนี้การเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องทำทุกทางเพื่อแจกให้ได้ เพราะได้หาเสียงไว้แล้ว หากไม่ทำ ก็จะเสียหายเหลือคณานับ แต่เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไข และวิธีการใช้เงิน มันก็ยิ่งน่าสงสัยว่า “เอื้อประโยชน์เจ้าสัว” หรือเปล่า เพราะนิยามว่าใช้ได้กับร้านค้าย่อย ร้านสะดวกซื้อ และที่บอกว่า แมกโคร บิ๊กซี โลตัส ไม่เข้าข่าย แต่อย่าลืมว่า เดี๋ยวนี้มี “ห้างมินิ” ผุดกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว
ดังนั้น หากให้สรุปรวมๆ ก็ต้องบอกว่า นโยบายแจกเงินคราวนี้ รัฐบาลได้หน้า พรรคเพื่อไทยได้คะแนน “เจ้าสัว” ได้ไปเต็มๆ แบบไปกลับหลายต่อ ได้ทั้งผลิตสินค้าจำหน่าย ป้อนร้านสะดวกซื้อของตัวเอง ขณะที่ร้านเล็กร้านน้อยริมทาง ในชนบท ไม่สามารถเอื้อมไปถึง ขณะเดียวกันงานนี้ ชาวบ้านกลับต้องแบกหนี้ไปเต็มๆ และไม่รู้ว่าอีกกี่ชาติถึงจะชดใช้หมด !!