xs
xsm
sm
md
lg

26 ปีศาลรธน.นักกม.ให้เอพิทักษ์รธน. แต่ล้มเหลวหนีรัฐประหารไม่รอด ชี้ยุบพรรคไม่ได้แก้ปัญหาการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อภิปราย 26 ปีศาลรธน.นักกฏหมายให้เอพิทักษ์ แต่ชี้รธน.ล้มเหลวในการปกป้องตัวเอง หนีรัฐประหารไม่รอด มองยุบพรรคไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการเมือง "อุดม" ยันพิจารณาคำร้องไม่อคติ ระบุตุลาการสั่งยุบหากเหตุผลไม่ดีไม่เหมาะเป็นศาลรธน. สว.เชื่อปัญหาแก้รธน.ทั้งฉบับยังยืดเยื้อ

วันนี้(10เม.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดอภิปรายเนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ หัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" โดยมีนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และนายภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายมานิตย์ จุมปา อาจารย์นิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม

นายปัญญา กล่าวว่าการทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาประเทศเยอรมนี ที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญผ่านคำวินิจฉัยสำคัญๆ อาทิ การคุ้มครองหลักความเสมอภาคในสิทธิสตรี คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้พิการ ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

นายอุดม กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นบทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร ไม่ใช่แค่กรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาทางการเมืองหลายๆเรื่อง เป็นปัญหาที่มีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน ไม่สามารถหาทางออกด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยหาทางออก หากว่าฝ่ายที่กำหนดนโยบายไม่ว่าฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติสามารถตกลงกันได้มีความเห็นตรงกัน ก็ไม่ต้องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก

นายอุดมยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องไม่มีอคติกับเรื่องที่มีการร้องเข้ามา เมื่อเราเลือกที่จะมีศาลรธน.ก็แสดงว่าต้องมีลักษณะที่แตกต่างไปจากระบบศาลอื่น​ เรามีศาลยุติธรรม​ ศาลปกครอง​ศาลทหาร​  เท่ากับว่า ถ้ามีศาลพวกนี้แล้ว หากเราทำหน้าที่ของตัวเองไม่ได้ ทำได้เหมือนศาลอื่นเท่านั้น  เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลในทางกฎหมายมหาชน แสดงว่าท่านต้องสามารถ แยกแยะ ทางเลือก ให้กับสังคมได้ และต้องให้เหตุผลได้ว่า ทำไมท่านถึงเลือกทางนี้ เมื่อมันมีทางเลือกอื่นด้วย ท่านให้เหตุผลอย่างไร อย่างที่เราถกกันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ แสดงว่ามันมีทางเลือกแต่เราให้เหตุผลอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างหรืออย่างยุบพรรค มันมีทางเลือกต่างๆอย่างไรบ้าง ถ้าท่านให้เหตุผลที่ดีไม่ได้ ท่านก็ไม่เหมาะที่จะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนนายคำนูณ มองว่า รัฐธรรมนูญมีกลไกพิทักษ์ตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่กำหนดให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีผลบังคับใช้อยู่ แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถทำได้ 2 ครั้งในปี 2489 และ2540 ซึ่งขณะนี้ตนยังมองไม่ออกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับจะสำเร็จได้ในปีไหน และยังไม่มั่นใจว่ารัฐสภาจะสามารถให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเพียงว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ดังนั้นประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะยังเป็นปัญหาในสังคมอีกระยะหนึ่ง และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

นายภูมิ  กล่าวถึงกลไกในการพิทักษ์รธน.ของประเทศไทยว่า มีลักษณะรูปแบบของการให้ศาลพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรกลางที่เชื่อว่าจะเกิดความสมดุลแต่ก็มีคำถามจากสังคมว่า องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกลไกที่จะนำมาใช้นั้นจะมาจากไหน โดยมีความแตกต่างในแต่ละช่วงของการมีรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานั้นๆ อาทิ เรื่องของวาระการดำรงตำแหน่ง ที่มาของตุลาการศาล รวมถึงจำนวนของตุลาการศาล  สำหรับรัฐธรรมนูญ 60 นั้น มีคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเทียบกับฉบับอื่นที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันมีงานวิจัย พบว่า มีสามมิติด้วยกัน มิติแรก คือ กระบวนการคัดเลือกกระบวนการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิติที่สอง คือ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการขยายมากขึ้นหรือไม่ มิติที่สาม คือ การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการขยายอำนาจให้กับองค์กรตัวเองหรือไม่ จึงนำไปสู่การขัดกันของการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ ถัดมาคือ การตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งต้องมีการมาพูดในเรื่องเหล่านี้กันว่า จะสามารถทำได้ตรงไหน รวมถึงการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากมองจากฝั่งประชาชนเชื่อว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ดีมีมากและไม่ควรมองเพียงมิติเดียว คือ มิติทางการเมืองแต่ต้องมองในมิติอื่น ๆ ด้วย อาทิ เรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น กรณีคำวินิจฉัยกรณีที่การประปาส่วนภุมิภาควางท่อแล้วล้ำไปในพื้นที่ของประชาชน เป็นต้น มิติในการตีความปัจจุบันนั้นเดิมจะยึดตามตัวบทกฎหมายแต่ปัจจุบันจะยึดเพียงตัวบทกฎหมายเท่านั้นไม่ได้ต้องประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกนำไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมากซึ่งถือเป็นความท้าทายในปัจจุบัน

ส่วนมานิตย์  กล่าวว่าภาพรวมมองว่า ตลอดระยะเวลา 26 ปีศาลรัฐธรรมนูญพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไว้ได้ดีมาก ผลอยู่ในระดับเอ ถือว่าประสบความสำเร็จในทิศทางที่ดี แต่ในมุมมองเซฟการ์ด คือ ประชาธิปไตยในการปกป้องตนเองได้นั้นต่อให้เขียนอย่างไรก็ไม่สามารถปกป้องต่อการรัฐประหารได้ ไม่สามารถที่จะปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ ที่น่าสนใจ คือ ต้องทำให้ประชาธิปไตยปกป้อง พิทักษ์ตนเองได้ คือ ไม่ให้คนใช้สิทธิเสรีภาพเข้าสู่อำนาจในการแก้ไขรธน.ได้

ต่อข้อซักถามที่ว่า ศาลรธน.สั่งยุบพรรคจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่นั้น มองว่า ต้องหันมาทบทวนในเรื่องนี้แต่ควรไปลงโทษที่ตัวบุคคล วันนี้แม้ว่า จะยุบพรรคก็ไม่หายไป ในความเป็นจริงควรดูแลทางด้านกลไกของพรรคการเมืองมากกว่า ถ้าคนผิดไปว่ากันที่ตัวคน เชื่อว่า การยุบพรรคไม่สามารถแก้ไขปัญหาของการเมืองไทยได้แต่ควรไปสู่การลงโทษบุคคลผู้ที่กระทำผิดเพราะเมืองไทยได้พิสูจน์มาแล้วว่า การยุบพรรคใช้ไม่ได้ผล


กำลังโหลดความคิดเห็น