อดีต ส.ส.พปชร.ใช้สิทธิในฐานะผู้เสียหายยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.ชี้ขาด MOU 2544 ไทย-กัมพูชา เป็นโมฆะ เหตุไม่ได้ความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ไม่มีผลผูกพันไทย แนะรัฐชิงส่งศาล กม.ทะเลระหว่างประเทศ ชี้ขาดพื้นที่ 16 ล้านไร่ เชื่อได้ข้อยุติโดยเร็ว เป็นผลดีกับไทย
วันนี้ (10 เม.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชา อ้างสิทธิในหลายทวีปทับซ้อนกัน หรือ MOU 2544 ให้เหตุผลว่า เป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทย ในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของคนชนชาวไทย ซึ่งถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรง และอาจได้รับความเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพยังคงอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ในการทำ MOU 2544 ซึ่งหน่วยงานทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งเขตอธิปไตยของไทย ทางทะเลอ่าวไทย บนพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 16 ล้านไร่ และใช้เป็นเครื่องมือเป็นประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีมูลค่า 20 ล้านล้านบาท ให้แก่กัมพูชา ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมด ตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของไทย ด้านอ่าวไทยแนบท้ายตามประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982
ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 คำวินิจฉัยที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และปรากฏหลักฐานว่า หน่วยงานของรัฐทั้งสอง ยอมรับว่า MOU 2540 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา ที่เสนอต่อรัฐสภาเพื่อความเห็นชอบ แต่ปรากฏว่า MOU ฉบับดังกล่าว กระทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย จึงมีผลให้เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีผลบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และมีผลให้ MOU 2544 ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกและมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสองตามหลักการเรื่องความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. 1969
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU ฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาที่กระทำโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก็จะส่งผลให้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ตั้งแต่เริ่มแรกและไม่มีผลผูกพันไทยจะเป็นประโยชน์ต่อไทย หากมีข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้างว่า MOU 2540 เป็นหลักฐาน ว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาจะทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 16 ล้านไร่ และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติมูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทย เป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และหากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเล จึงเห็นว่า เพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว และจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย เห็นว่าฝ่ายไทยควรเป็นฝ่ายดำเนินข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติมีอำนาจตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982
นายไพบูลย์ ย้ำว่า การมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และมาตรา 48 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา บทบัญญัติ หรือการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ตั้งแต่เริ่มแรก และขอให้มีคำสั่งให้กรมสนธิสัญญาและกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการกระทำในการนำ MOU ฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา นอกจากนี้เห็นว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตนจะขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อจะมีสิทธิในฐานะคู่ความ นำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันก็จะใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มส่งเรื่องไปยังศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า MOU 2544 ตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญ และไทยส่งเรื่องไปยังฝ่ายกัมพูชา หากกัมพูชาไม่เห็นด้วย เกิดเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศสามารถส่งศาลระหว่างประเทศให้หาข้อยุติ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อยุติรวดเร็วและเป็นวิธีสันติ เชื่อว่า น่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี
ส่วนวันนี้ที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าพื้นที่ทับซ้อนเป็นของไทยนั้น ส่วนตัวเห็นว่ากรณีนี้ทำให้สังคมเกิดความสับสนเพราะทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่คัดค้านให้ข้อมูลตรงกัน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นเพียงเกาะกูด ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นเพราะยังไงก็เป็นของไทย แต่ต้น พูดถึงอธิปไตยทางทะเล โดย MOU 2544 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกอยู่ระหว่างการพูดคุยกันมีปัญหาเรื่องเขตแดน ส่วนที่ 2 และ 3 ยอมรับว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน จึงสงสัยว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร และการออกมาโต้แย้งกันไม่มีการพูดถึงภาพรวมพื้นที่ทั้ง 16 ล้านไร่ตาม MOU 2544 แบ่งพื้นที่ เว้นเกาะกูด ขณะที่เขตไหล่ทวีปของเกาะกูดไม่ได้นำมาพูดกลับกลายเป็นการยอมรับแผนที่ของฝ่ายกัมพูชา จึงเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 16 ล้านไร่ ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าทั้ง 16 ล้านไร่เป็นของไทยทั้งหมด จึงไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตอธิปไตยหรือผลประโยชน์ทางทะเล
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สุดท้ายแล้วจะต้องไปที่ศาล แต่หากยังมี MOU 2544 และตกลงกันไม่ได้ เกรงว่าหากกัมพูชานำเรื่องนี้ยื่นต่อศาลก่อนโดยใช้ MOU 2544 เป็นหลักฐาน ไทยจะเสียอธิปไตยและผลประโยชน์ทันที ดังนั้น ฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการและยื่นเข้าสู่ศาลก่อนเพื่อไทยจะได้เปรียบ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาไม่นำเรื่องพื้นที่ 16 ล้านไร่เข้าสู่ศาลทะเลระหว่างประเทศ เพราะรู้ว่าจะเสียเปรียบ จึงรอการเจรจาตาม MOU 2544 เพื่อให้มีหลักฐานมัดไทยยื่นฟ้องต่อศาล และเชื่อว่า MOU 2544 ไม่มีวันเจรจาตกลงกันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจบที่ศาล แต่อยากจะจบที่ศาลโดยฝ่ายกัมพูชาเป็นคนยื่นหรือไทยเป็นผู้นำการยื่นก็ขึ้นอยู่กับจะคิด
“สำหรับผมข้อที่ 1 ไม่มีพื้นที่ทับซ้อน เป็นเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยเป็นผลประโยชน์ของไทยทั้งสิ้น มีแค่แจ้งฝ่ายกัมพูชาว่าเป็นของใครและตัดคำว่าพื้นที่ทับซ้อนออกไป ถ้าฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับนำไปสู่ศาล ข้อที่ 2 ประเด็นสำคัญคือไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจสับสนระหว่างอธิปไตยเกาะกูด กับ MOU 2544 ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ใช่เรื่องที่จะต้องไปพยายามบอกว่ารักษาอธิปไตยเกาะกูด ซึ่งเกาะกูดทำให้ประเด็นมันเบี่ยง เกาะกูดไม่มีวันเป็นของกัมพูชา แต่ปัญหาคือพอเกาะกูดเป็นของไทย ตามกฎหมายทะเลจะต้องแบ่งเขตไหล่ทวีปเส้นเขตจะเป็นแบบไทย ไม่มีพื้นที่ของกัมพูชาอยู่ในเส้นไหล่ทวีป ดังนั้น จึงถือว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายเพื่อที่จะทวงคืน พื้นที่อธิปไตยทางทะเลเนื้อที่ 16 ล้านไร่ของไทย และทวงคืนผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พลังงานทางทะเลมูลค่า”