xs
xsm
sm
md
lg

“จุลพันธ์” แจงเงินดิจิทัลจ่ายไตรมาส 4 ปีนี้ กระตุ้น ศก.ปีหน้า ดัน GDP โต 5% สะดวกซื้อได้-ห้างใหญ่อด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.คลัง แจงดีเทลโครงการเงินหมื่นดิจิทัล เริ่มจ่ายเงินไตรมาส 4 ปีนี้ หวังกระตุ้น ศก.ปีหน้า เข็นจีดีพีโต 5% ตามฝัน เบื้องต้น ซื้อของร้านสะดวกซื้อได้ แต่ห้างใหญ่ไม่เข้าข่าย

วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการได้วางแนวทาง รายละเอียด และเงื่อนไขโครงการดังนี้ 1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี จากเดิมที่กำหนดให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาท ต่อเดือน เพื่อสะดวกในสอดคล้องกับกระบวนการของสรรพากร

2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งเป็นสองส่วน คือ 2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้าการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม


4. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัล โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริต และเกิดผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ


ทั้งนี้ ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาส 3 ปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปี 2567 นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการทุจริต ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการโดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ และที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการการดำเนินกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีตนเป็นประธาน และยังทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการนี้ด้วย อีกทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังนำมติดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้

เมื่อถามว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพี 1.2-1.6% จะมีผลต่อปีนี้และปี 2568 เท่าไหร่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็นหลัก เพราะเราเริ่มจ่ายเงินช่วงปลายปี 2567

ถามต่อว่า จะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตใกล้เป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 5% หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า แน่นอน เมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นอื่นๆ เช่น การกระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์

เมื่อถามว่า 7-11 และแม็คโคร ถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไขหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลงมาถือว่าเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะต้องการให้เงินกระจายอยู่ในชุมชน ส่วนแม็คโคร ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ไม่รวมไม่นับ


กำลังโหลดความคิดเห็น