xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ก้าวไกล ถาม ครม.ลดภาษีจดจำนองให้บ้านหลังละ 7 ล้าน กระตุ้นคนไทยมีบ้านหรือช่วย บ.อสังหาฯ โละสต๊อก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วรภพ” ตั้งคำถามมติ ครม.ลดค่าจดทะเบียนจำนองเหลือ 0.01% ขยายให้รวมถึงบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้าน เป็นมาตรการเพื่อคนไทยมีบ้าน หรือเพื่อช่วยบริษัทอสังหาฯ โละสต๊อกบ้านกันแน่
.
วันที่ 10 เมษายน 2567 นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ที่เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ 5 ข้อ ว่า มี 2 ประเด็นใหญ่ ที่สะท้อนแนวนโยบายที่น่ากังวลไปจนถึงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลเศรษฐา

โดยข้อที่ตนเห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้คนไทยมีบ้าน คือ โครงการสินเชื่อบ้าน ไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย, โครงการบ้าน BOI ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หลัง แต่มาตรการที่น่ากังวล คือ การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาฯ จาก 2% เป็น 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนอง จาก 1% เป็น 0.01% จากมาตรการเดิม ที่กำหนดให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับเป็นรวมไปถึงบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

ประเด็นแรก คือ ที่มาของการทบทวนมาตรการลดค่าธรรมเนียมรอบนี้ รัฐบาลอ้างว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา และ ข้อมูลจากภาคอสังหาฯ พบว่า บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่เหลือขายมีจำนวนไม่มาก แต่บ้านราคา 3-7 ล้านบาท ที่ยังเหลือขาย มีจำนวนสูงถึง 46% หรืออีกในความหมายหนึ่ง บ้านค้างสต๊อกของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ราคา 3-7 ล้านบาท/หลัง ไม่ใช่ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท/หลัง ซึ่งข้อมูลนี้มาจากการแถลงข่าวของรัฐบาลเอง

ซึ่งมาตรการเดิม ที่กำหนดให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ยังพอเข้าใจได้ว่า วัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นนโยบายที่เอื้อให้ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นว่าในครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของการเปลี่ยนเงื่อนไข เอาผู้มีรายได้น้อยมาบังหน้า แต่เนื้อแท้กลับเอื้อให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต็อกบ้านเหลือ ขายไม่ออก สามารถเร่งขายบ้านออกได้ง่ายขึ้น

นายวรภพ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง คือ การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาฯ กระทบงานบริการสาธารณะของท้องถิ่นโดยตรง เพราะค่าธรรมเนียมโอนเป็นแหล่งรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, อบต. และ กทม. ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้รายได้ท้องถิ่นลดลงไปถึง 23,822 ล้านบาท/ปี จากเดิมที่รายได้ท้องถิ่นมีน้อยนิดอยู่แล้ว รัฐบาลออกมาตรการนี้มาเป็นการซ้ำเติมเพราะกระทบรายได้ของท้องถิ่นโดยตรง แต่กลับไม่มาพร้อมกับการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ถ้าจะให้พูดตรงๆ วิธีคิดคล้ายกับรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างกับลอกมาใช้

แทนที่ท้องถิ่น จะมีรายได้มาพัฒนาสิ่งที่เป็นบริการอยู่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด กลับถูกเอาไปให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ เอาทรัพยากรที่รีดมาจากรายได้ของท้องถิ่นให้กลายไปเป็นรายได้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เอาเงินที่จะใช้เพื่อทำบริการสาธารณะไปช่วยโละสต็อกบ้านนายทุนอสังหาเสียอย่างนั้น

สุดท้าย จะมีอะไรเหมาะเจาะไปกว่านี้ เพราะช่างเป็นเหตุบังเอิญที่ว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ก็ดันเคยเป็นอดีตผู้บริหารและเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็จะกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมาตรการเช่นนี้ จึงขอตั้งคำถามตัวโตๆ กับมาตรการของรัฐบาลนี้ ว่า เป็นมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้คนรายได้น้อยมีบ้าน หรือเพื่อกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ให้โละบ้านค้างสต๊อกให้หมด


กำลังโหลดความคิดเห็น