xs
xsm
sm
md
lg

ถอนอายัดทรัพย์ “สว.อุปกิต” ปลดล็อกฟอกเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การพิจารณาถอนการอายัดทรัพย์ในชั้น คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด เสียงลงมติให้ถอนการอายัดทรัพย์ อุปกิต นั้น “เกือบเป็นเอกฉันท์” มีเพียง “1 เสียง” ที่ลงมติไม่เห็นชอบ

เคยตกเป็นข่าวใหญ่โต สำหรับ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งถูก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นบ้านพัก และยึดอายัดทรัพย์สินหลายรายการ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

จากกรณีที่ถูกกล่าวหาเชื่อมโยงในคดีค้ายาเสพติดเครือข่าย “ทุน มิน หลัด” ที่ทำให้เจ้าตัวถูกดำเนินคดีในหลายฐานความผิด

อุปกิต ปาจรียางกูร
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.67 ศาลอาญา มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีที่อัยการคดียาเสพติด เป็นโจทก์ฟ้อง “ทุน มิน หลัด” จำเลยที่ 1 และพวกรวม 5 รายในความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง องค์กรอาชญากรรม

แม้คดีดังกล่าวจะไม่มีชื่อ อุปกิต ร่วมเป็นจำเลย แต่ก็เป็น “ต้นเรื่อง” ที่ทำให้ อุปกิต ถูกดำเนินคดี และถูกยึดอายัดทรัพย์ เมื่อผลคดีออกมา “เป็นบวก” จึงทำให้คาดได้ว่าคดีของอุปกิตเองที่เป็น “ปลายเรื่อง” น่าจะมีผลลัพธ์ออกมาไม่ต่างกัน

ขณะเดียวกัน อุปกิต ก็ได้เริ่มทวงถามความยุติธรรมในกับตัวเอง โดยการยื่นขอถอนการยึดอายัดทรัพย์สิน ต่อ กระทรวงยุติธรรม โดยนำผลคดีที่ศาลยกฟ้อง ทุน มิน หลัด ประกอบการยื่นคำร้อง

แม้ที่สุดจะมีคำสั่งให้ “ถอน” การอายัดทรัพย์ โดยเฉพาะ “บัญชีเงินเดือน สว.” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดอย่างแน่นอน แต่กลับถูกยึดอายัดไปด้วยแล้วก็ตาม

ทว่า ในรายละเอียดก่อนการถอนอายัดทรัพย์ อุปกิต ก็มีความน่าสนใจ เมื่อมีข้อมูลปรากฎว่า การพิจารณาถอนการอายัดทรัพย์ในชั้น คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด เสียงลงมติให้ถอนการอายัดทรัพย์ อุปกิต นั้น “เกือบเป็นเอกฉันท์”

โดยในคณะกรรมการฯที่มีรวม 18 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม-ป.ป.ส.-ปปง.-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฎมีเพียง “1 เสียง” ที่ลงมติไม่เห็นชอบการถอนอายัดทรัพย์ อุปกิต ในครั้งนั้น

อุทัย สินมา
สำคัญที่ 1 เสียงที่ว่า เป็นถึง ประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งก็คือ “อุทัย สินมา” อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด

สำหรับ อุทัย สินมา เคยมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะในยุคที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม ช่วงรัฐบาลชุดก่อน และถือเป็น “คนโปรด” ของ สมศักดิ์ โดยเคยยกให้เครดิตว่า อุทัย เป็นคนเอาจริงเอาจังเรื่องการปราบปรามยาเสพติด

และถึงขั้นนำชื่อมาใช้เป็นโมเดล “อุทัยชูวิทย์” ในการยึดทรัพย์ตัดวงจรเครือข่ายยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ร่วมกับ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งเคยแจ้งเบาะแสในคดี “ตู้ห่าว” กว่า 5 พันล้านบาท

และก็เป็น สมศักดิ์ นี่เองที่เป็นผู้ลงนามคําสั่งศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ แต่งตั้ง อุทัย เป็นประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด ทั้ง 2 ครั้งที่มีคำสั่ง คือเมื่อเดือน ธ.ค.63 และเดือน ธ.ค.64 โดยครั้งหลังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดอำนาจหน้าที่ รวมถึงองค์ประกอบคณะกรรมการ แต่ประธานยังชื่อเดิมคือ “อุทัย”

ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2563 ขณะนั้น อุทัย ยังมีตำแหน่งเป็นอัยการสำนักงานคดียาเสพติด ก็ถือว่าเหมาะสมตรงกับตำแหน่งหน้าที่ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยกับการออกคำสั่งช่วงปลายปี 2564 ที่ยังคงแต่งตั้ง อุทัย เป็นประธานอนุกรรมการฯ ทั้งที่ขณะนั้น อุทัย ถูกโยกย้ายไปเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงานภาค 3 แล้ว

กลายเป็นว่าตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด ยึดที่ “ตัวบุคคล” ไม่ได้แต่งตั้งตาม “ตำแหน่ง” เหมือนรายอื่นๆ ในอนุกรรมการฯ

และในอนาคตข้างหน้า หากไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ อุทัย จะมีตำแหน่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนทางการเงินเพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติดไป “ตลอดกาล”

“อุทัย” ไม่ใช่คนๆเดียว ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานด้านคดียาเสพติด บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในกระทรวงยุติธรรม, ป.ป.ส., ปปง., อัยการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เหมาะสมจะทำหน้าที่กลั่นกรองยึดอายัดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ก็มีไม่น้อย

และหากพิจารณาตาม “ดุลยพินิจ” ในการลงมติกรณีของ อุปกิต ที่ อุทัย โหวตสวน “เสียงข้างมาก” ก็ยิ่งมีคำถามถึงการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นปัจจุบัน เพราะความจริงปรากฏว่า คดีที่อุปกิตโดนกล่าวหากลายเป็นเรื่องอุปโลกน์ไปแล้ว

ยิ่งวันนี้ อุทัย ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ด้านนี้แล้ว อันนำมาซึ่งคำถามว่า คณะกรรมการ หรืออนุกรรมการ ลักษณะนี้ควรหมุนเวียนเปลี่ยนตาม “ตำแหน่ง” มากกว่า “ตัวบุคคล” หรือไม่

เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ ที่ให้คุณให้โทษกับประชาชนโดยตรง จะได้ไม่ผิดพลาดอย่างกรณีนี้ ที่บางคนมี “อารมณ์ค้าง” จากผลคดีออกมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด.
กำลังโหลดความคิดเห็น