xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไปอีกขึ้น ครม.เห็นชอบความร่วมมือไทย-จีน วิจัยดวงจันทร์และสำรวจอวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกฯ รัดเกล้า เผย การศึกษาวิจัยด้านอวกาศของประเทศไทย ก้าวไปสู่อีกขั้น ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ 2 วาระความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ส่งเสริมให้คนไทยไปไกลกว่าแค่ชั้นบรรยากาศโลก

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องน่ายินดี การศึกษาวิจัยด้านอวกาศของประเทศไทย ก้าวไปสู่อีกขั้น โดยล่าสุด ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบสองวาระ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยไปได้ไกลกว่าแค่ชั้นบรรยากาศโลก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เพื่อเป็นการวางรากฐานความร่วมมือในการร่วมสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ การสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ และอวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ รวมถึงดวงจันทร์และวัตถุในท้องฟ้าอื่นๆ ซึ่งไทยจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศเพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการประยุกต์ใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และกระชับความร่วมมือไทย-จีน ในด้านอวกาศอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของไทยต่อไป

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ว่า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีอวกาศแม้จะดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วอยู่ในรอบตัวชีวิตประจำวัน อาทิ ด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ มาร่วมทำงานให้เกิด ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

“ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศ โดยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่ช่วยพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เกิดขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน สู่การสร้างเทคโนโลยีดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยในอนาคต” รองโฆษกฯ รัดเกล้า กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น