xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ไอซีที วุฒิฯ ชงสอบตั้งเลขาฯ กสทช.ใหม่ค้างคา 4 ปี ปัดก้าวก่ายแต่มองละเว้นหน้าที่ชาติเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.ไอซีที วุฒิฯ ชง สำนักนายกฯ- ป.ป.ช.-ผู้ตรวจฯ สอบปมตั้งเลขาฯ กสทช. คนใหม่ ค้างคา เกือบ 4 ปี ยังไม่ได้ตัว ปล่อยรักษาการนั่งจนจะครบวาระ ปัดก้าวก่าย แต่เห็นเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กระทบการทำงานทำผลประโยชน์ชาติเสียหาย



วันนี้ (2 เม.ย.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ได้ศึกษาของอนุกรรมาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2533 ว่า เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอรายงานการเลือกเลขาธิการ กสทช. เพื่อให้วุฒิสภา ดำเนินการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ยืนยัน ว่า การตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาไม่ได้เป็นการตรวจสอบ และยืนยันไม่ได้ก้าวก่าย กสทช.โดยได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว พบว่า ตามมาตรา 129 และ 185 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ กมธ.ฯศึกษาเรื่องนี้

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบ พบว่า มี 2 ความเห็นเกี่ยวกับการตั้งเลขาธิการ กสทช. คือ ประธาน กสทช. เห็นว่า เป็นอำนาจในการแต่งตั้งโดยประธาน และมีผู้เห็นด้วย 3 เสียง ส่วนความเห็นว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรกลุ่ม มี 4 เสียงเห็นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการเลือกในสอดีต ส่วนกระบวนการตั้ง เลขาฯ กสทช. ที่ล่าช้ามา กว่า 3 ปี นั้นเห็นว่า ตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญ การที่ไม่เร่งพิจารณา ถือเป็นการทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. เสียหาย เพราะเป็นองค์กรดูแลคลื่นความถี่ได้ผลประโยชน์จากคลื่นความถี่จึงกระทบต่อการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าการตั้งล่าช้าจะเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบหรือไม่ หลังอนุกรรมาธิการศึกษาแล้วยังตรวจพบความล้าช้า

“นอกจากความขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน ยังมีเหตุการณ์แทรกซ่อน กรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทำการมิชอบด้วยกฎหมาย และมีมติเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เลขาฯ คนใหม่มาทำหน้าที่สอบสวน แต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามจึงเป็นเหตุการณ์บานปลายสร้างความเสียหายให้ กสทช. จึงจะเสนอรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

ด้าน นายประพันธุ์ คูณมี รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า นับแต่ 1 ก.ค. 2563 ที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออก และตั้งรักษาการมาจนปัจจุบัน เกือบ 4 ปี ดังนั้น นายไตรรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการเกือบครบวาระแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ วุฒิสภาเห็นว่า จะเกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชน หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งศึกษาพบสาเหตุความล่าช้า เพราะมีการตีความตามกฎหมายต่างกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประธานได้ออกประกาศของตนเองเพื่อคัดเลือกเลขาฯ กสทช.เอง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เลขานุการของประธาน แต่เป็นเลขาองค์กร ต้องทำงานรับใช้องค์กร เมื่อประธานประกาศและคัดเลือกเองเฉพาะตัวประธานก็ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือนกว่าจะมาเสนอกรรมาการในที่ประชุม แต่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเพราะกรรมการไม่กล้ารับรอง จึงเกิดความล่าช้า

ส่วนพฤติกรรมแบบนี้ส่อไปในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่นั้น นายประพันธุ์ กล่าวว่าใน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดกรอบเวลาในการสรรหาเลขาต้องทำให้ได้ในกรอบ 90 วัน แต่ 3 ปีกว่าไม่สามารถตั้งได้ สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำและคณะกรรมการองค์กรนั้น ดังนั้นในทางกฎหมายถือว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหาย ล่าช้าเกินสมควร

ทั้งนี้ ในรายงานของอนุกรรมาธิการได้มีข้อเสนอว่าควรส่งผลรายงานนี้ให้องค์กรของรัฐดำเนินการนามกฎหมาย คือ 1. คณะกรรมการ กสทช. ต้องร่วมกันรับผิดชอบ เร่วรัดดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กทสช.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และต้องกำหนดกฎระเบียบให้รักษาการเลขาฯอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ของ กทสช.ด้วย 2. ส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่าประกาศของ กสทช.เรื่องรับสมัครบุคคลดำรงตำแหน่งเลขาฯ กทสช.วันที่ 17 มี.ค. 66 อาจมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 หรือไม่

3. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัย ความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ม.234(2) ต่อ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กทสช. กรณีแต่งตั้งเลขาธิการ กทสช.ล่าช้า และกรณีไม่ลงนามคำสั่งเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการฯตามมติที่ประชุม กทสช. ขัดขวางการทำหน้าที่ของ กทสช. จากการออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ กทสช.กระทำการใดๆ ตามที่ กสทช.ร้องขอ หรือมอบหมายให้ดำเนินการก่อนได้รับข้อสั่งการจากประธาน กสทช.​ อีกทั้งยังไม่ยับยั้่ง ปล่อยปละละเลยให้รักษาการเลขาธิการออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน กสทช.โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การไม่ชี้แจงการดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือ หรือมาชี้แจงด้วยวาจาเมื่อวุฒิสภาร้องขอ และยังไม่สั่งการให้พนักงานมาชี้แจงเรื่องใดๆ ด้วยหนังสือ หรือด้วยวาจา

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังเสนอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณี นายต่อพงษ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. ที่ไม่ชี้แจงการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหนังสือหรือมาชี้แจงด้วยวาจา และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. กรณีออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน กสทช. โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่สั่งการให้พนักงาน กสทช. มาชี้แจงต่อวุฒิสภา

อีกทั้งยังเสนอให้ส่งเรื่องดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีรับทราบ ในฐานะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย พ.ร.บ.จัดสรรขึ้นความถี่ และผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังเสนอว่าควรกำหนดให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญ มาบังคับใช้กับ กสทช. และให้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. เพื่อใช้บังคับในการพิจารณาคัดเลือกเลขาธิการคนต่อไป และควรเพิ่มเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ กสทช. ในกรณีมีความประพฤติเสียหาย หรือขัดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกำหนดกระบวนการในการให้พ้นจากตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการตีความกฎหมายที่ไม่ชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น