ภัยแล้งช็อคกระบี่ น้ำประปาส่อวิกฤต หน่วยงานราชการทำได้แค่ “รอฟ้า รอฝน” “ธนวัช” บี้ ประปากระบี่-อบจ. วางแผนให้ครบวงจร สกัดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เสนอ เดินหน้าผลักดัน “อ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่” แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ก่อนกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำชาวกระบี่ เดือดร้อนถ้วนหน้า
วันนี้ (31มี.ค.) จากกรณีที่การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 กำหนดแผนจ่ายน้ำ 3 วันต่อสัปดาห์ (ในบางพื้นที่) และ 4 วันต่อสัปดาห์ (ในบางพื้นที่) ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดย ชี้แจงเหตุผลว่าเกิดภัยแล้ง จนทำให้น้ำดิบเหลือ ในการผลิตน้ำประปา เพียง 2 เดือน ก่อนที่วันนี้จะมีการออกประกาศใหม่ว่าจะมีการจ่ายน้ำเป็นปกติแล้ว เนื่องจากมีน้ำฝนจากทั้งฝนหลวงและฝนธรรมชาติมาเติมทำให้มีปริมาณน้ำมากพอที่จะจ่ายน้ำได้ตามปกติ จึงไม่ต้องสลับแบ่งจ่ายน้ำในวันที่ 1 เมษายนแล้วนั้น
นายธนวัช ภูเก้าล้วน ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจ จ.กระบี่ สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ตนทำธุรกิจบ้านจัดสรรใน จ.กระบี่ มา 22 ปี ได้ประสานงานกับการประปาอย่างใกล้ชิด เข้าใจถึงกำลังการผลิตน้ำประปาใน จ.กระบี่ ที่สามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณเพียง 30% เท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่สูงบางพื้นที่ก็ไม่สามารถจ่ายน้ำไปถึงได้ จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำกระบี่ใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้นายสาคร เกี่ยวข้อง อดีต ส.ส. กระบี่ ผลักดันโครงการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำกระบี่ใหญ่อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในอนาคต จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว
.
นายธนวัช กล่าวว่า แนวคิดที่จะศึกษาอ่างเก็บน้ำมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่ อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยโต้ อ่างเก็บน้ำคลองไทรม้า และ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ และขุดลอกคลองกระใหญ่ รวมถึงทำคลองบายพาสเพื่อรองรับในช่วงน้ำหลากไม่ให้ไหลมากระทบกับเขตเมืองกระบี่ ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ถือเป็นจิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้ายที่จะสามารถจัดการบริหารน้ำในเขต อ.เมือง และ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ได้ ทั้งระบบ ทั้งน้ำดิบ น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการท่องเที่ยว ที่จะมีใช้อย่างเพียงพอ และแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการก่อสร้าง 700 ล้านบาท
“แม้ขณะนี้วิกฤตน้ำในจังหวัดกระบี่จะคลี่คลายลงจากปริมาณน้ำฝนเข้ามาเติมน้ำดิบ แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ เพราะกลายเป็นว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง อบจ.เองที่มีหน้าที่ทั้งงบประมาณ อำนาจหน้าที่ในเรื่องน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค รวมถึงการเกษตร แก้ปัญหาได้เพียงแค่รอฟ้า รอฝน ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ไม่เตรียมแผนรับมือล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากเอลนิโญ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่รับทราบเป็นวงกว้าง แต่เรากลับรอจนปัญหาเกิดแล้วมาแก้ที่ปลายเหตุ กระทบเป็นวงกว้าง อย่าลืมว่าจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก หากไม่แก้ไขปัญหานี้โดยด่วน และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เกรงจะกระทบการท่องเที่ยวในอนาคต และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ในภาพรวมด้วย” นายธนวัช กล่าวทิ้งท้าย