“รองนายกฯ สมศักดิ์” เสนอแนวทางให้หน่วยงานปราบปรามทุจริต ทบทวนการประมูลงานใหม่ แนะให้แข่งกันด้วยเวลาสร้าง ไม่ต้องแข่งด้วยเงิน ป้องกันเรียกรับสินบน หวังช่วยเพิ่มคะแนนความโปร่งใสให้ดีขึ้น ชี้ การแก้ปัญหาต้องคิดนอกกรอบ เพราะกรอบที่มีคือกับดัก
วันที่ 29 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้แทนกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. จึงขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการยกระดับดัชนีรับรู้การทุจริต CPI (Corruption Perceptions Index) ซึ่งประเมินโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) เช่น เวิล์ด จัสติส โปรเจกต์ และ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม โดยประเทศไทย ในปี 2566 ได้คะแนนรวมลดลงจาก ปี 65 จำนวน 1 คะแนน จาก 36 คะแนน เป็น 35 คะแนน และมีอันดับลดลงจาก อันดับที่ 101 ในปี 2565 เป็น 108 ในปี 2566 จาก 180 ประเทศ ทำให้การประชุมวันนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2568
“มาตรการฉบับนี้ คือ กรอบการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่มีสาระสำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการผลักดันการแก้ไขปัญหาทุจริตเรื่องสินบนอย่างจริงจัง พร้อมการพัฒนาคนและระบบความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทุจริต ได้แก่ สอนเด็กเยาวชนเรื่องการต่อต้านการทุจริต พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเบาะแส เครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในภาครัฐ เน้นการออกมาตรการและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เน้นการดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม โดยการแก้ไขปัญหาการทุจริตและการยกระดับค่าคะแนน CPI ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จึงจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกัน และที่สำคัญเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีเอกภาพ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือและพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกันในวันนี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้อธิบายคะแนน CPI โดยมาจากการสำรวจข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งที่ประเทศไทย มีคะแนนต่ำ คือ ประเด็นเรียกรับสินบน และเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้อง ตนจึงเสนอให้มีการทบทวนวิธีการประมูลแบบใหม่ โดยไม่ต้องต่อสู้ด้วยราคา จะได้ไม่ต้องมีการเรียกรับสินบน แต่ให้ต่อสู้กันด้วยระยะเวลา หากใครทำได้ในเวลาที่น้อยกว่า ก็ให้ชนะการประมูลงาน ซึ่งตนมองว่า หากปรับเปลี่ยนวิธีประมูลใหม่ ไม่มีการใช้เงิน ก็มั่นใจว่า คะแนน CPI จะดีขึ้นอย่างแน่นอน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อเสนอของตนไปทบทวน พร้อมแนะนำขอให้คิดนอกกรอบ เพราะกรอบที่มี ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งคือกับดักด้วย