เมืองไทย 360 องศา
จากคำพูดใหญ่โตของพรรคเพื่อไทยเมื่อตอนช่วงหาเสียงที่ว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” หรือ “ไม่กู้ ไม่ใช้เงินงบประมาณ” แต่จะใช้วิธีการบริหารจัดการด้านการหารายได้แบบมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงได้คิดนโยบาย และโครงการแบบนี้มานาน และละเอียดรอบคอบแล้ว แต่กลายเป็นว่า ทุกอย่างเวลานี้กลายเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
แน่นอนว่ากำลังพูดถึงนโยบายและโครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” หัวละหมื่นบาท นโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน ที่เวลานี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมตามที่เคยหาเสียงเอาไว้
เริ่มจาก “ทำทันที” กลายเป็นล่าช้าแบบเอาแน่นอนไม่ได้ แม้ว่าจะประกาศว่าให้ชาวบ้านรอรับเงินภายในไตรมาส 4 หรือภายในสิ้นปีนี้ก็ตาม เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า “แหล่งที่มา” ของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการราว 5 แสนล้านบาทจะเอามาจากไหนกันแน่
โดยล่าสุดมีแค่คำยืนยันจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าให้รอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้ เท่านั้น ซึ่งความหมายก็น่าประมาณว่าจะมีรายละเอียดในเรื่องที่มาของเงินชัดเจนขึ้น กรอบเวลาในการแจกเป็นช่วงเวลาไหน รวมไปถึงหลักเกณฑ์คร่าวๆ ในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงจะมีใครบ้างที่สามารถได้รับเงินดิจิทัล หรือไม่ก็อาจกำหนดแบ่งจ่ายกี่งวด อะไรประมาณนี้ ในกรณีที่เดินหน้าโครงการ ขณะเดียวกันในทางตรงข้ามอาจออกมาในลักษณะ “ซื้อเวลา” ไปอีก มาในแบบ “ชัดเจนในความไม่ชัดเจน” ก็ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เลื่อนมาตลอด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ว่า เรื่องที่ประชุมวันนี้ของดิจิทัลวอลเล็ตได้รับทราบว่าเศรษฐกิจมีปัญหา มีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการเติบโตต่ำของจีดีพีมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความเจริญเติบโตสูงกว่าเราเป็นเท่า ทางกระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกเหนือจากการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปดำเนินการ และรายงานในที่ประชุมใหญ่วันที่ 10 เม.ย.
และได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้ารายงานในที่ประชุมรายงานวันที่ 10 เม.ย.เหมือนกัน พร้อมมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบและการจัดทำในลักษณะเปิด หรือ Open loop เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ รายงานที่ประชุมในวันที่ 10 เม.ย. นอกจากนี้มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบการตรวจสอบ วินิจฉัยร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืน รายงานที่ประชุมในวันที่ 10 เม.ย.
“วันที่ 10 เม.ย.ได้ข้อสรุปทั้งหมด และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเม.ย. ยืนยันกรอบไทม์ไลน์ตามที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง แถลง โดย 1. ไตรมาสที่ 3 ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน 2. ไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน ซึ่งที่ประชุมวันนี้เห็นแล้วว่าประชุมกันประมาณครึ่งชั่วโมงทุกภาคส่วนเห็นด้วยหมด ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ฉะนั้นเดี๋ยวคอยฟังข่าวดีในวันที่ 10 เม.ย.” นายเศรษฐา กล่าว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ไปหาข้อสรุปเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ ที่มีวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยขณะนี้มี 3 แนวทางที่เป็นไปได้ แนวทางแรก คือ การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้
แนวทางที่สองคือ การใช้งบประมาณเข้ามาใช้ในโครงการนี้ ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โครงการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถที่จะดำเนินการได้ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวงเงินในการจัดทำงบปี 2568 เงื่อนไขตรงนี้ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน แต่ขณะนี้มีทางเลือกในการใช้งบปี 2568 เป็นทางเลือกเพิ่มเติม และแนวทางที่ 3 คือการใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากมีความเหมาะสม
ทั้งนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ต้องดูว่าแหล่งเงินใดมีความเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดจะได้ความชัดเจนในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยจะมีการแถลงให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง
หากฟังจากปากของ นายเศรษฐา และ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ดังกล่าวแล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปถึงแหล่งที่มาของเงินสำหรับนำมาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” มาจาก 3 แนวทาง คือ “กู้อย่างเดียว 5 แสนล้านบาท” ที่เคยคิดตั้งแต่แรก แนวทางที่สองคือ “ใช้เงินงบประมาณปี 68” โดยปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท และแนวทางที่สามคือ แบบ “ไฮบริด” ก็คือผสมกันระหว่าง “กู้เงินบวกกับเงินงบประมาณ” ซึ่งก็คงไม่หนีไปจากนี้แน่นอน
แต่คำถามก็คือ เรื่องการทำผิดกฎหมาย และความเหมาะสม และนอกเหนือจากนี้ก็คือ หากใช้แนวทางแบบนี้ นั่นก็หมายความว่าที่ผ่านมาที่บอกว่า “คิดใหญ่ ทำเป็น” หรือว่า “ไม่กู้” ทุกอย่างมันก็แค่ “โม้” ใช้วิธีมาหลอกเพื่อหาคะแนนเสียงเท่านั้น และแม้ว่าไปถามชาวบ้านแทบทุกคนก็จะชอบ “รับแจกเงินหมื่น” อยู่แล้ว แต่วิธีการกู้มาแจก หรือใช้เงินงบประมาณมาแจกแบบนี้มันง่ายเกินไปหรือเปล่า เพราะใครก็ทำได้ ใครก็ทำเป็น หากเป็นแบบที่ว่า
แม้ว่า นายกรัฐมนตรีจะย้ำว่าให้รอฟังข่าวดีวันที่ 10 เมษายน ทำนองว่า “แจกแน่” แต่ก็ใช่ว่าจะชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “แหล่งที่มาของเงิน” ว่าจะเอามาจากไหนกันแน่ เพราะหาก “กู้” หรือใช้เงินงบประมาณ ตามที่แย้มเอาไว้ มันก็จะเสียเครดิตที่เคยโม้เอาไว้ว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” ไม่ใช้เงินงบประมาณ ไม่กู้เด็ดขาด แต่หากออกมาเป็นตรงกันข้ามถือว่าเป็นวิธีการที่ง่าย ใครก็ทำได้คิดได้หากใช้วิธีนี้
ดังนั้น นาทีนี้ไม่ว่าโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” จะออกมาแบบไหน ถือว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเสียเครดิตยับเยิน และที่ผ่านมาจากการเลื่อนมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัวร์ว่าจะออกแบบไหน !!