เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน AMCHAM Membership Luncheon ย้ำสารนายกฯ “ตอนนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจแล้ว และไม่มีเวลาใดเหมาะลงทุนในประเทศไทยมากกว่าตอนนี้”
วันนี้ (28 มี.ค.) เวลา 13.00 น. ห้องประชุมพิมานสยาม โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน AMCHAM Membership Luncheon โดยเมื่อเสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มากล่าวปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ “Bridging Horizons : Government and Business from vision to action for Thailand's Success” ในวันนี้ โดย นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปต่างประเทศ พบปะหารือกับหุ้นส่วนเก่าๆ รวมทั้งทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมโยง (Bridging the Horizon) และยิ่งเป็นการตอกย้ำข้อความของนายกฯ ต่อภาคเอกชนที่ว่า “ตอนนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจแล้ว และไม่มีเวลาใดเหมาะที่จะลงทุนในประเทศไทยมากกว่าเวลานี้อีกแล้ว” ให้ดังและชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยก่อนที่จะระบุถึง “วิสัยทัศน์เพื่อความสำเร็จของไทย” เลขาธิการนายกรัฐมนตรีใช้โอกาสนี้กล่าวอธิบายว่า ทำไมเวลานี้ถึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนในประเทศไทย
ประการแรก หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ไทยกลับมาอยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองและประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย เสริมสร้างหลักนิติธรรม การพัฒนาสิทธิมนุษยชน และการเสริมสร้างความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลยังทุ่มเทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และการเดินทาง ลดขั้นตอนของระบบราชการ สร้างความโปร่งใส กระตุ้นการลงทุนในประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมเชิงรุกกับพันธมิตรที่รู้จักกันมายาวนานเช่น สหรัฐฯ รวมถึงการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ด้วย
ประการที่สอง ภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันถูกกำหนดโดยการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองมหาอำนาจหลัก ก่อให้เกิดทั้งความท้าทายและโอกาส ไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางเศรษฐกิจ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์ของไทย และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อรวมกับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทย จะยิ่งช่วยเพิ่มจุดยืนและศักยภาพของไทยในภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ จะก้าวหน้าทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอบคุณ AMCHAM ที่เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและศักยภาพสูงของไทย รวมทั้งให้คำแนะนำเชิงนโยบายมากมายแก่รัฐบาล โดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงสิ่งที่ นายกฯ พูดกับ AMCHAM เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่ารัฐบาลพร้อมรับฟัง และเชื่อว่า AMCHAM สามารถเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงสำหรับความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวคิด “Five to Thrive” ของ AMCHAM สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ยกระดับทักษะแรงงาน และเพิ่มความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ที่กำหนดแผนงานให้ไทยเป็นศูนย์กลางใน 8 ภาคส่วนหลักภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบการในประเทศ ขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างครอบคลุม
ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ไทยมุ่งยกระดับสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก เสริมสร้างประสบการณ์นักท่องเที่ยว ผ่านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งเสริมเมืองรอง ผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทาง และวางประเทศให้เป็น “โฮมสเตย์” ระดับโลกสำหรับนักเดินทางทั่วโลก ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงระบบการขอวีซ่าเพื่อให้เดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้น และไทยกำลังทำงานร่วมกับประเทศอื่นในอาเซียนภายใต้แคมเปญ “6 ประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค
ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ที่สร้างขึ้นจากระบบการดูแลสุขภาพและการแพทย์แผนโบราณที่มีชื่อเสียงของไทย รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ไทยยังอยู่ในอันดับต้นๆ ในดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก และวางแผนที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับทั่วโลกในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพ และการผลิต
ศูนย์กลางเกษตรกรรมและอาหาร เพื่อยืนยันบทบาทของประเทศไทยในฐานะ “ครัวโลก” “kitchen of the world” ไทยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างการมีส่วนร่วมในความมั่นคงทางอาหารของโลก และขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคอาหาร รวมถึงความก้าวหน้าของโปรตีนจากพืชและสินค้าฮาลาล
ศูนย์กลางการบิน ผ่านการก่อสร้างสนามบินหลักใหม่ 2 แห่ง ยกระดับพัฒนาสนามบินเดิม และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและบริการ ซึ่งไทยมุ่งหวังที่จะยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและบำรุงรักษาหลักในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องข้อกำหนดสนามบิน (airport modalities) การบำรุงรักษา และการยกระดับทักษะ รวมถึงด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel (SAF))
ศูนย์กลางการขนส่ง การลงทุนที่สำคัญในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการขยายทางหลวง ทางรถไฟ และการพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทย ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งในระยะยาว โครงการ Landbridge จะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และช่วยลดความแออัดในช่องแคบมะละกาในอนาคต
ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์และ EV รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยนโยบาย 30@30 รัฐบาลหวังว่าจะได้ต้อนรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม EV อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และในเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งอนาคต
ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายของไทย คือ การดึงดูดการลงทุนและความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน AI, Data Center ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล ไทยได้หารือกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะเป็นภาคส่วนสำคัญของความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ไทยให้การสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือในภาคส่วนนี้ รวมทั้งเชื่อมโยงบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบนิเวศของสตาร์ทอัพของไทยด้วย
ศูนย์กลางการเงิน รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน มุ่งส่งเสริมภาคการเงินที่แข็งแกร่งและนวัตกรรม ดึงดูดสถาบันการเงินระดับโลก และพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ในฐานะศูนย์กลางระดับภูมิภาค รัฐบาลต้องการเห็นประเทศไทยที่ทุกคนสามารถอยู่อาศัย พักผ่อน ทำงาน ลงทุน และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ รัฐบาลมองเห็นประเทศไทยที่เปิดกว้าง ยั่งยืน และครอบคลุม โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่รัฐบาลสามารถร่วมกับภาคธุรกิจสหรัฐฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกันได้
1. ความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสีเขียว ถือเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามของไทยในทุกภาคส่วน นอกเหนือจากเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2508 ไทยยังตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการผลิตพลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2583 โดยรัฐบาลทำงานอย่างต่อเนื่องและไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจต่างๆ จะมีพลังงานสะอาดเพียงพอที่จะดำเนินการและขยายห่วงโซ่อุปทานในไทย โดยไทยกำลังลงทุนอย่างมาก อาทิ การใช้อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเพื่อติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ รวมถึงการออกพันธบัตรสีเขียว และวางแผนที่จะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ซึ่งการบรรลุอนาคตที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นภาระผูกพันเท่านั้น แต่ยังเป็นความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ระดับชาติในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย ในฐานะพันธมิตรด้านห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเห็นถึงศักยภาพของสหรัฐฯ ในการเป็นพันธมิตรหลักสำหรับการเปลี่ยนแปลงสีเขียวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการลงทุนในพลังงานทดแทน
2. การทำงานร่วมกับหุ้นส่วน รัฐบาลไทยดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ส่งเสริมความเชื่อมโยงกับหุ้นส่วน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพแล้ว รัฐบาลกำลังเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศเศรษฐกิจหลักๆ เพื่อขยายตลาดส่งออก และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยในระดับภูมิภาค ไทยกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในกรอบ IPEF ซึ่ง นายกฯ ได้พบปะกับรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ในระหว่างการเยือนประเทศไทย พร้อมกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยได้หารือถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมหลักๆ ร่วมกัน
3. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ระบบนิเวศดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วของไทยได้รับแรงผลักดันจากประชากรที่เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น และกลยุทธ์เศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นอนาคต ตลอดจนชาวต่างชาติและกลุ่ม digital nomad จำนวนมากที่เดินทางเข้ามาไทย โดยรัฐบาลเดินหน้าพัฒนานโยบายและมาตรการเชิงรุก และหวังที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย
วิสัยทัศน์และแผนงานบางส่วนเหล่านี้ จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ไทยต้องการพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งคือพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรือง และอยู่เคียงข้างเรามาอย่างยาวนานกว่า 190 ปี โดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้ร่วมงานกับ AMCHAM เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ต่อไป ในขณะที่เราก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อนึ่ง งาน AMCHAM Membership Luncheon จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยจะเชิญผู้บริหารระดับสูงของไทยร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับภาคเอกชนสหรัฐฯ และเป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังวิสัยทัศน์และนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จากผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายดังกล่าว