นายกฯ เป็นประธานประชุม กก.ดิจิทัลวอลเล็ต มองหา ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก่อนถามกลางวงประชุม ติดภารกิจหรือ ด้าน รองผู้ว่าฯ ตอบแทนติดภารกิจไปต่างประเทศ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแหล่งเงิน สอดคล้องสถานการณ์ ย้ำ กระบวนการต้องเป็นไปตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 โดยก่อนเริ่มการประชุมนายกฯ ได้มองหาพร้อมสอบถามว่า “ท่านผู้ว่าฯ (นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)) ติดภารกิจหรือครับ”
โดย นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวตอบว่า “ท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจไปต่างประเทศ”
จากนั้น นายกฯ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาการเจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลายาวนาน และเผชิญกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันหลังสถานการณ์โควิด-19 และภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงตลอดเวลา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็น อย่างยิ่ง ตนขอเน้นย้ำ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นผ่านประชาชน ผู้ได้รับสิทธิและผู้ประกอบการร้านค้า ดังนั้น การดำเนินงานในขอบเขตที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสม กับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงควรถูกขับเคลื่อนและผลักดันเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ตนยังทราบมาว่าคณะทำงานรวบรวมข้อมูลความเห็นข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทุกภาคส่วนได้จัดตั้งขึ้นแล้วและอยู่ระหว่างรอหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งตนก็ขอให้การดำเนินโครงการนี้คำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
“วันนี้ในการประชุม ผมจึงเห็นว่าควรพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวัง หรือความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมา ผมขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ และที่สำคัญ การใช้อำนาจต่างๆ ในการดำเนินการโครงการนี้ จะต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด” นายกฯ กล่าว.