xs
xsm
sm
md
lg

ปปร.27 เยือนรัฐสภา “มองโกเลีย” ถอดบทเรียนวิถีประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อูลานบาตอร์ : คณะนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 27 สถาบันพระปกเกล้า ศึกษาดูงาน ณ ประเทศมองโกเลีย เพื่อถอดบทเรียนรูปแบบการเมืองที่เหมาะสม สร้างเสริมองค์ความรู้ เพื่อแสวงหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานของคณะนักศึกษา ปปร.27 ระหว่างวันที่ 17-24 มีนาคม ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบอบการเมือง การปกครอง พร้อมลงพื้นที่ศึกษาสภาพสังคม วัฒนธรรม ณ เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย เพื่อนำประเด็นที่น่าสนใจมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองที่ดีในบริบทของประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ นักศึกษา ปปร.27 เข้ารับฟังการบรรยายสรุปก้าวย่างที่สำคัญของประชาธิปไตยในมองโกเลีย ณ รัฐสภามองโกเลีย และ Mongolian People's Party รวมถึงเยี่ยมชมการเรียนการสอน หลักสูตรการสร้างผู้นำที่สถาบัน National Academy of Governance

“การมาเยือนมองโกเลียครั้งนี้ เพราะเป็นประเทศที่ได้รับการประเมินว่า มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงมากจากสถาบันฟรีดอมเฮ้าส์ ด้วยเปิดกว้างให้เสรีภาพประชาชนในการแสดงออก เปิดใจให้กับความเห็นที่แตกต่าง และเปิดโอกาสให้มีระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบพหุนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่เหมือนกัน” ดร.ถวิลวดี กล่าวและว่า

ที่สำคัญ จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองมองโกเลีย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีระบบเลือกตั้งเป็นสองระบบ คือระบบบัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง และระบบเขต 78 ที่นั่ง โดยในระบบบัญชีรายชื่อจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 30 ดังนั้นพรรคการเมืองจึงต้องส่งผู้หญิงเข้าสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนในรัฐสภามากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้เข้ามาในสภาได้มากขึ้น โดยเพิ่มจำนวน ส.ส. จากเดิม 76 เป็น 126 ที่นั่ง

“กว่าการเมืองมองโกเลียจะก้าวมาถึงวันนี้ต้องมีการทำ Deliberative polling หรือ การสำรวจและรับฟังความเห็นด้วยการปรึกษาหารือ อย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันในทุกมิติหลายครั้ง เพราะครั้งแรกที่ทำคนมองโกเลียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีการให้ข้อมูลและมีการสร้างกลไกการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการมากขึ้นจึงแก้ไขสำเร็จในที่สุด และที่น่าสนใจก็คือ เป็นความริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองเอง ซึ่งช่วยลดปัญหาการโต้แย้งนอกสภา ที่เริ่มมีการประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การนำความขัดแย้งมาถกกันในสภาจึงย่อมดีกว่าถ้ารับฟังกันอย่างจริงจัง” ดร.ถวิลวดี กล่าวสรุป

นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การทำงานของสภามองโกเลียนั้น มีความก้าวหน้าค่อนข้างมากในด้านสิทธิสตรี แม้ยังไม่เปิดกว้างมากนักในกลุ่ม LGBT และยังมีจุดเด่นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนรุ่นใหม่ในทางการเมือง มีการพัฒนาช่องทางการสื่อสาร ที่ทำให้ประชาชนสามารถสะท้อนปัญหาเข้าสู่รัฐสภา

“การที่มองโกเลียมีแพลตฟอร์มที่ประชาชนร้องเรียนปัญหามาที่สภาได้โดยตรง ทำให้สามารถส่งสัญญาณความเดือดร้อน หรือสะท้อนความต้องการของประชาชนได้รวดเร็ว คล่องตัว และทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น”

นายทรงศักดิ์ มุสิกกอง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การไปเยือนสถาบันการเมืองของมองโกเลียครั้งนี้ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนกับผู้นำพรรคการเมืองซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของมองโกเลียหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการมุ่งมั่นพัฒนามองโกเลียไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทุกด้านด้วยวิสัยทัศน์ VISION2050

​“การเมืองภาคพลเมืองของมองโกเลียมีจุดเด่นที่เน้นการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมปรึกษาหารือ โดยเฉพาะการส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สร้างกิจกรรมทางการเมืองที่ส่งผ่านประสบการณ์จากอดีต และรู้เท่าทันปัจจุบัน ช่วยให้คนทุกรุ่นสามารถปรับตัว เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาประเทศ และร่วมกันสร้างวิถีประชาธิปไตยอย่างสันติ”






















กำลังโหลดความคิดเห็น