อดีตปลัดคลัง อัด ครม.“เสี่ยนิด” ชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ แต่เจริญแค่ กทม.กับบางพื้นที่ พร้อมทวงถามความคืบหน้าแผนระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังทำงาน 6 เดือน ส่วน “ซอฟต์พาวเว่อร์” ใช้งบกลางไปแล้วแต่ยังไม่เห็นรูปธรรม
วันนี้ (25 มี.ค.) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว. อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อภิปรายในญัตติอภิปรายรัฐบาลทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ในประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต้องเติบโตอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้ และทางรายจ่าย แต่ปัจจุบันทุกอย่างเจริญอยู่ที่กรุงเทพฯ ขณะนี้ 15 จังหวัดเศรษฐกิจหลักครอบคลุม 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ส่วน 61 จังหวัดที่เหลือมีส่วนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ที่เห็นได้ชัด ฉะนั้น การที่รัฐบาลประกาศว่าจะพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคจะทำได้อย่างไร รวมถึงมีแผนที่ชัดเจนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคได้อย่างไร หรือทำอะไรไปแล้วในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากมีการประกาศเอาไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว
นายสถิตย์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น หัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายทางการคลังซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามแผนกระจายอำนาจให้ได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 ปีที่ผ่านมา มีงบอุดหนุนรวมอยู่เพียงแค่ 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระจายอำนาจเพื่อสร้างประสิทธิภาพท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ คำถามคือ จะจัดสรรรายได้ท้องถิ่นให้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่
ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมต้องเกิดจากเศรษฐกิจข้างล่าง ไหลขึ้นข้างบน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่สำคัญคือภาคเกษตรกร และ เอสเอ็มอี แต่ประสิทธิภาพ และผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรด้อยกว่าประเทศอื่น คำถามคือรัฐบาลจะผลักดันนำเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตรได้อย่างไร รวมถึงขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบกการเอสเอ็มอี ปรับตัวลดลง รัฐบาลจะมีแนวทางที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ประกอบการได้อย่างไร
นายสถิตย์ ยังกล่าวถึงนโยบายเรือธงของรัฐบาล คือ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่แบ่งออกเป็น 11 สาขางบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้งบประมาณยังไม่ได้นำไปสู่ผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แม้จะมีการใช้งบกลางไปพลางๆ ก่อน ซึ่งตนหวังว่า หากงบปี 67 ผ่านแล้วจะมีการผลักดันในเป็นรูปธรรมต่อไป และควรมุ่งเน้นไปที่ความเป็นไทย ส่วน เรื่อง 11 สาขาเป็นแค่องค์ประกอบ และไม่ต้องจำเป็นต้องบอกว่าอันใดอันหนึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเป็นเรื่องที่รู้อยู่ในตัว แต่ที่สำคัญต้องให้รับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทย