สภาเห็นชอบปรับลดงบ “ดีอีเอส” ลง 72 ล. ตาม กมธ.เสียงข้างมาก ก้าวไกลรุมสับศูนย์ต้านข่าวปลอม “ปกรณ์วุฒิ” ซัดไม่ควรได้แม้แต่บาทเดียว เหตุเป็นเครื่องมือรัฐปกปิดความจริง “ณัฐพล” เผย กรมอุตุฯ ชิงตัดงบตัวเองหลังของบซื้อเครื่องวัดระยะฝุ่น แต่ไม่รู้ไทยมีแล้ว ขณะ “ทนายแจม” เปิดคลิปรู้ทันมิจฉาชีพ หัวข้อ “มงคลโอนเงินให้เปี๊ยกหน่อย” มึน สายด่วนชี้ช่อง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” อันไหนจริง-ปลอม
ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของสมาชิกสภาผู็แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่สอง ในส่วนของมาตรา 16 กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้ปรับลด 72 ล้านบาท เหลือ 5,347,054,800 บาท
นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลด ว่า งบประมาณปีนี้ ในส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาถูกปรับลด 19 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดของโครงการที่เกี่ยวกับ PM 2.5 ตามเอกสารตั้งโครงการระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลกและวัดฝุ่นละออง PM 2.5 จำนวน 1 ระบบ โดยมีการตั้งเป็นงบผูกพันในปี 68 ด้วย รวมแล้วระบบนี้จะมีมูลค่า 127,223,000 บาท
นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในโครงการ เช่น ใบเสนอราคาซื้อเครื่อง Lidar PBL จำนวน 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่กรมอุตุฯกลับไม่รู้ว่า ไทยเคยมีเครื่องนี้แล้วและซื้อมาในราคาเพียง 5,000,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทซัปพลายเออร์เสนอค่าซ่อม 2,000,000 บาท แต่เครื่องนี้ถูกทิ้งไว้เฉยเฉย และปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ไทยผลิตเครื่องนี้ได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท
“เป็นเดชะบุญที่กรมอุตุฯ ตัดงบโครงการตนเอง ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะแม้จะเป็นโครงการสำคัญแต่มีราคาแพงเกินจริง จึงอยากฝากหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวกับมลพิษ PM 2.5 หากจะตั้งงบเพื่อซื้อเครื่องลักษณะนี้ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ NARIT สามารถผลิตได้เอง มีต้นทุนไม่ถึงล้านบาท และมาพร้อมกับโมเดลการวิเคราะห์เก็บข้อมูลที่นักวิจัยไทยเขียนเองทั้งหมด”
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ จะมีสายด่วน 1441 ที่เอาไว้แจ้งมิจฉาชีพ แต่ก็มีสายด่วนของหน่วยงานอื่น เช่น 1599 เรามีสายด่วนเยอะมาก แต่ประชาชนจำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหามิจฉาชีพเข้ามาร้องเรียนมิจฉาชีพ ทำให้ประชาชนงงว่าหากร้องเรียนไปแล้ว จะเป็นตำรวจจริงหรือไม่ ตอนนี้ตำรวจทำงานไม่ทันมิจฉาชีพ ไลน์แอดที่ยิงไป 4-6 อัน มิจฉาชีพหมดเลย สรุปอันไหนจริงกันแน่ พอไปถามเจ้าหน้าที่ก็โยนงานข้ามกันไปมาว่าสายด่วนไหนจริง สายด่วนไหนปลอม
น.ส.ศศินันท์ ยังเปิดคลิปพีอาร์ของกระทรวงดีอีเอส ที่รณรงค์ให้ประชาชนรู้ทันมิจฉาชีพ ในหัวข้อ “มงคลมาโอนเงินให้เปี๊ยกหน่อย” ตนขอเสนอปรับลดงบ เนื่องจากอยากให้กระทรวงดีอีเอส ทำงานที่ควรจะทำ มองว่าหากมัดรวมงบแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้ จะประหยัดงบไปได้เยอะ
ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตนสงสัยมานานว่าเหตุใดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังแบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2. หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ 3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่
ยกตัวอย่างข่าวที่ถูกปฏิเสธการตอบกลับ “ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ก.ย.นี้ เตรียมรับเงินสูงสุด 1,900 บาท สามารถดกดเป็นเงินสดได้” ซึ่งจากการตรวจสอบกับกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่า เพื่อความชัดเจนและข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด รบกวนสอบถามทางกระทรวงการคลัง เนื่องจากดูแลเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรง สุดท้ายศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมปิดเคส สมชื่อกับศูนย์ประสานงานและแก้ปัญหาข่าวปลอม ไม่ติดตามหรือทวงถามอะไรทั้งนั้น
นอกจากนี้ ในกลุ่มข่าวที่ไม่ประสงค์เผยแพร่ยังระบุเหตุผลไว้ชัดเจน โดยเฉพาะข่าว ครม. อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 ล้านบาท หรือข่าวทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์แปดเส้น 3.4 ล้านบาท จากการตรวจสอบกับกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล
“ตลอด 4 ปี 5 เดือน การส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการตรวจสอบแต่เป็นการขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ และเป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น โครงการเช่นนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว” นายปกรณ์วุฒิ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตัดงบกระทรวงดีอีเอส 72 ล้านบาท ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก