xs
xsm
sm
md
lg

“อบจ.พิจิตร-เหมืองทองอัครา” ทำประชาพิจารณ์ก่อนใช้น้ำใน“ขุมเหมือง”ช่วยเกษตรกร3พันไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อบจ.พิจิตร-เหมืองทองอัครา” ทำประชาพิจารณ์ 3 หมู่บ้าน ก่อนนำน้ำใน “ขุมเหมือง” ออกไปทำนา-ปลูกพืช 3 พันไร่ช่วยแก้ภัยแล้งและชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร (อบจ.พิจิตร) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ และบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 3 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนดำเนินโครงการก่อสร้างระบบผันน้ำจากพื้นที่ของบริษัทอัคราฯ ลงสู่อ่างเก็บน้ำสาธารณประโยชน์และกระจายน้ำสู่ลำรางและลำคลองสาธารณะให้กับเกษตรกรหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8

โดยมีนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร เขต 2 นายสุเมธ เมธีรัตนาพิพัฒน์ นายอำเภอทับคล้อ นายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายกอบต.เขาเจ็ดลูก รวมทั้งรองสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร, เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พิจิตร, นักวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมอธิบายในประเด็นต่างๆ และเป็นสักขีพยานรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 3 หมู่บ้าน ก่อนจะเปิดให้ประชาชนลงคะแนนว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับโครงการนี้

พ.ต.อ.ชูศักดิ์ คานทองดี เลขานุการนายกอบจ.พิจิตร กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดของพ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกอบจ.พิจิตร ที่ต้องการให้ประชาชนใน อ.ทับคล้อ ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำน่าน จึงเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ได้มีน้ำทำการเกษตร เพื่อปลูกข้าว หรือพืชอื่นๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่สำรวจแล้วไม่รู้ว่าจะหาน้ำจากที่ไหนมาให้พี่น้องเกษตรกร มีเพียงน้ำในขุมเหมืองทองอัครา ซึ่งมีน้ำอยู่หลายบ่อ (ขุม) มีปริมาณรวมกันกว่า 9 ล้านลบ.ม. จึงหารือกับบริษัทอัคราฯ ตั้งแต่ปี 64 โดยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำกันมาตลอดจากหลายหน่วยงาน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร

“ผมมารับราชการตำรวจที่ อ.ทับคล้อ ตั้งแต่ปี 36 จึงเห็นสภาพความแห้งแล้งของชาวไร่ ชาวนาหว่านเมล็ดข้าวแล้วต้องนั่งรอน้ำฝน บางปีแล้งจัดถึงขนาดคนเช่านาต้องทิ้งที่นา จนกระทั่ง 2 ปีที่แล้ว นายก อบจ.พิจิตร ขับรถผ่านมาเห็นสภาพความแห้งแล้ง จึงคิดโครงการนี้ เพราะเห็นว่าน้ำในขุมเหมืองทองอัคราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้ประชาชน 3 หมู่บ้าน ประมาณ 2-3 พันไร่ ได้เพาะปลูกข้าวนาปรัง หรือพืชระยะสั้น ช่วงเวลา 4 เดือน (ธ.ค.-มี.ค.) โดยสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้วันละ 44,500 ลบ.ม. เพียงพอแน่นอน”

พ.ต.อ.ชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อบจ.พิจิตรจะนำผลการลงคะแนน (ประชาพิจารณ์) ของประชาชนที่เห็นด้วย 242 เสียง ไม่เห็นด้วย 56 เสียง เป็นส่วนประกอบของโครงการ เพื่อส่งเรื่องไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตามขั้นตอน เพื่อขออนุญาตนำน้ำออกมาจากขุมเหมือง โดยการสูบส่งผ่านท่อด้วยระยะทางประมาณ 2 กม. มาพักไว้ที่แหล่งน้ำสาธารณะในหมู่ 3 ซึ่งอบจ.พิจิตร มีแผนโครงการขุดลอกให้แหล่งน้ำสาธารณะดังกล่าว สามารถเก็บพักน้ำได้ถึง 3 แสน ลบ.ม. ก่อนกระจายสู่ลำราง-คลองสาธารณะให้เกษตรกร โดยอบจ.พิจิตรต้องการให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อส่งน้ำให้ประชาชนเร็วที่สุดช่วงฤดูแล้งหน้า เดือนธ.ค.67-มี.ค.68

ขณะที่ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัคราฯ กล่าวว่าตนยืนยันมาโดยตลอดว่าน้ำในขุมเหมืองทองอัครา มีความเหมาะสม มีความปลอดภัยกับโครงการนี้ เพราะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นประจำ มีการทดลองใช้น้ำมาปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด ก็งามดีและรับประทานได้ ถ้าจะสูบน้ำออกไปทำการเกษตร จะมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ ให้รู้คุณภาพน้ำทันที ตนจึงมั่นใจเรื่องคุณภาพน้ำ ถ้าจะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก






กำลังโหลดความคิดเห็น