xs
xsm
sm
md
lg

สภา มสธ.ส่อผิดธรรมาภิบาลร้ายแรง “วีระ” แฉหลักฐานเด็ด มัดเรื่องการนำเงินรายได้ มสธ. 5.5 พันล้านบาท ไปลงทุนผิด กม. ส่ง ป.ป.ช. ตรวจสอบเพิ่มเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภา มสธ.ส่อผิดธรรมาภิบาลร้ายแรง “วีระ” แฉหลักฐานเด็ด มัดเรื่องการนำเงินรายได้ มสธ. 5.5 พันล้านบาท ไปลงทุนผิดกฎหมายอยู่ดี ส่ง ป.ป.ช. ตรวจสอบเพิ่มเติม และขอให้รัฐมนตรีศุภมาส ตรวจสอบและยกเลิกผลการสรรหานายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประชาคมสุดทน ร้อง มสธ.ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงนานแล้ว วอนรัฐมนตรีต้องเข้ามาควบคุมด่วน


เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาคม มสธ.มาหลายเรื่องจึงได้ทำหนังสือส่งเอกสารถึง ป.ป.ช.จำนวน 1 ฉบับ และส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.จำนวน 1 ฉบับเป็นปัญหาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง อย่างต่อเนื่อง และมีท่าทีจะบานปลาย มีเนื้อหาสรุปว่า

ฉบับ 1 เรื่อง มสธ.นำเงินรายได้ไปลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 5,500 ล้านบาท โดยตามที่ นายวีระ ได้เคยยื่นหนังสือที่ คปต. ๐๐๕/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. (เลขรับ ป.ป.ช. ที่ ๔๙๑๒) กรณีที่สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชไปลงทุนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหาย ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

“บัดนี้ ข้าฯ เพิ่งได้รับเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหาดังกล่าว จึงขอยื่นเอกสารสำคัญดังกล่าวนี้มาเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา กล่าวคือ เป็นเอกสารทางกฎหมายที่ชี้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเกี่ยวกับการนำเงินรายได้ไปลงทุน ซึ่งขัดพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521 ไม่ได้ให้อำนาจเกี่ยวกับนำเงินรายได้ไปลงทุนแต่อย่างใดเรื่อง” 

นายวีระ จึงได้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อส่งเอกสารเรื่องที่มีการกล่าวหาเพิ่มเติม และได้ตรวจสอบพบว่า เอกสารดังกล่าวนี้มีประโยชน์ที่มีเนื้อหาอย่างละเอียดว่า การตัดสินใจการนำเงินรายได้ไปลงทุน เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครคือผู้มีอิทธิพล และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ใช้กฎหมายฉบับใดมาเป็นบรรทัดฐานและมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ พบว่า ความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มสธ.มิอาจนำเงินรายได้ไปลงทุนได้เพราะขัดกับพรบ.มสธ. หากแต่การนำเงินไปลงทุนนี้เป็นเพียงความเห็นของผู้มีอำนาจใครบางคนเท่านั้นกับพวก ที่เชื่อว่าทำได้ ซึ่งโดยหลักการใครก็ตามจะมาตีความให้ความเห็นของตนและพวกอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างไร จึงเท่ากับว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอยู่ดี ต้องส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป”

ฉบับ 2 นายวีระ ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (นางสาวศุภมาส อิสระภักดี) เรื่องขอให้ตรวจสอบและยกเลิกผลการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากได้มีประชาคม ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของ มสธ. ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายวีระ โดยขอให้ตรวจสอบกระบวนการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และฝ่าฝืนข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2565 ซึ่งนายวีระ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดังต่อไปนี้

“ตามข้อ ๖ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกสภามหาวิทยาลัย (๖) เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและหรือกรรมการ สภาสถาบันอุดมศึกษาอื่นในเวลาเดียวกันรวมแล้วไม่เกินสองแห่ง”

ข้อเท็จจริงในการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ ๑๑/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชคนใหม่ แทนศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งได้รับการสรรหาให้เสนอรายชื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ได้เสียชีวิต ซึ่งในการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว คณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ ท่าน ธ. เป็นผู้ที่สมควรนำเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คนใหม่ 

ทั้งที่ปัจจุบันตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ท่าน ธ. ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอื่น รวมสามแห่งอยู่แล้ว จึงเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๖ (๖) แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๖๕

ดังนั้น การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น และเมื่อสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในการประชุม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ท่าน ธ. เป็นผู้สมควรเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิทยาลัยตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จึงเป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับหลักธรรมาภิบาลประกอบกับขัดกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๙/๒๕๕๙ เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ 

โดยในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยบางคนได้มีการทักท้วงประเด็นนี้แล้ว แต่กรรมการสรรหาก็ยังคงมีมติเห็นชอบให้เสนอ ท่าน ธ. เป็นผู้ที่สมควรนำเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อันเป็นการจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นอกจากนี้ ยังพบว่า กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชุดปัจจุบันซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกวาระหนึ่ง ยังมีพฤติการณ์ที่มีลักษณะมีการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งเกิดปัญหาร้องเรียนและฟ้องร้องทางคดีเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา แม้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้มหาวิทยาลัยดำเนินการเร่งการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่ได้รับการสรรหาให้อธิการบดีคนใหม่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยกลับเพิกเฉย และมีการยกเลิกผลการสรรหาอธิการบดีในที่สุด

ทั้งที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าผู้ที่ได้รับการสรรหามีคุณสมบัติเป็นอธิการบดีตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และกระบวนการสรรหาเป็นไปโดยชอบแล้ว พฤติกรรมการกระทำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งได้วางหลักไว้ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความความซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ใช้อำนาจข่มขู่ คุกคามผู้อื่น ไม่กระทำการที่มีลักษณะขัดแย้งทางผลประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสำนึกรับผิดชอบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ตามความในข้อ ๙ (๒) (๖) (๘) (๑๐) และข้อ ๑๐ แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่าด้วย หลักธรรมาภิบาล และประมวลจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๔ 

ดังนั้น จึงเห็นว่า การกระทำของสภามหาวิทยาลัยหรือผู้ที่ได้รับการสรรหาให้รับการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีการกระทำที่มิชอบได้กฎหมาย และข้อบังคับ และยากแก่การแก้ไขเยียวยา โดยไม่อาจใช้มาตรการปกติ และหากล่าช้าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอย่างร้ายแรง ที่สำคัญอาจจะทำให้ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทได้

“ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ข้าฯจึงขอให้ท่านได้ตรวจสอบและหากพบว่ามีการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ขอให้ยกเลิกผลการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และยกเลิกการเสนอโปรดเกล้าฯ กรรมการสภามหาวิทยาลัยทรงคุณวุฒิที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งขอให้ดำเนินการสั่งการให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วย” นายวีระ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น