วันนี้ (19 มี.ค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีมอบรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ ปี 2566 เชิดชูเกียรติ 35 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ แลกเปลี่ยนแนวคิด โชว์ผลงานโดดเด่นและนวัตกรรมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ยกระดับศักยภาพท้องถิ่น ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยได้รับเกียรติจากนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี กล่าวว่า “จากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และมีคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่พอเพียง รวมทั้งประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาเมืองไปสู่ความน่าอยู่อย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม มีความสมดุลในทุกมิติ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำงานสำเร็จได้นั้น ต้องทำให้ชุมชนกับท้องถิ่นเป็นหนึ่งเดียวกัน อันจะเป็นรากฐานสำคัญก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง มีความสามารถพร้อมรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทันในอนาคต ทั้งนี้ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งที่ผ่านเข้าสู่การประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ ถือว่าเป็นเมืองแนวหน้ามีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศร่วมกับประชาคมโลก ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเป็นสำคัญ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ ส่งต่อให้รุ่นลูก รุ่นหลานต่อไปในอนาคต อีกทั้งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยมระดับประเทศ ปี 256๖ ให้แก่เทศบาลทั้ง ๕ แห่ง ในลำดับคราวต่อไป ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ชนะ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับเทศบาลอื่นอีกด้วย”
นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ดำเนินงานเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมอย่างบูรณาการและสมดุลในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของหลักการมีส่วนร่วม ให้เกิดความยั่งยืนตามบริบทของพื้นที่ โดยพัฒนาเกณฑ์ชี้วัดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน 4 องค์ประกอบ 34 ตัวชี้วัด ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเมืองแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งยังต่อยอดการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน กระบวนทัศน์ใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ๔ มิติ ได้แก่ เมืองธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเมือง
พร้อมรับภัยพิบัติ เมืองขจัดมลพิษ และเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดความเข้มข้นของการจัดการ สิ่งแวดล้อมเมืองเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ Green City, Eco City และ Resilient City เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเมือง และเป็นเครื่องมือให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางและนโยบายการบริหารจัดการเมือง ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สร้างสภาพแวดล้อมเมืองให้น่าอยู่ ปลอดภัย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองการจัดการขยะ น้ำ และคุณภาพอากาศที่ดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพิธีมอบรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับประเทศ ปี ๒๕๖๖ นี้ ประกอบด้วย พิธีมอบรางวัลชนะเลิศ จำนวน 6 รางวัล แบ่งเป็น “รางวัลเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” เป็นรางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ 3 รางวัล ได้แก่ 1) เทศบาลนครตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ๒) เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ๓) เทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน รางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน กระบวนทัศน์ใหม่ 2 รางวัล ประกอบด้วย เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนที่มีจำนวนประชากร ตั้งแต่ 20,000 คน ขึ้นไป ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนที่มีจำนวนประชากร น้อยกว่า 20,000 คน ได้แก่ เทศบาลเมืองพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และรางวัลองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ 1 รางวัล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบรางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 29 รางวัล รวมถึงรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับพื้นที่ รางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน กระบวนทัศน์ใหม่ รางวัลเชิดชูเกียรติเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมกว่า 100 รางวัล อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานโดดเด่นและนวัตกรรมการพัฒนาเมืองเพื่อเผยแพร่แนวคิดนวัตกรรมพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนสู่สาธารณะ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ยกระดับศักยภาพท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป