เมืองไทย 360 องศา
ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการกลับบ้านเกิด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในระหว่างการเดินทางไปดังกล่าว ก็มีข้อสังเกตตามมามากมาย ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อสังเกตทางการเมือง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงที่ทำให้เขาต้องกลับไปจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือคราวนี้ ล้วนเป็น “เรื่องการเมือง” ทั้งสิ้น
หลายคนยังมองอีกว่าการเดินทางขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่ คราวนี้ เหมือนกับการ “เร่งเกม” เร็วเกินคาด ประเภทที่ว่าไม่อาจรอช้ากว่านี้ อะไรประมาณนั้น ขณะเดียวกันหากมองในมุมการเมืองเพียวๆ มันจึงไม่ต่างจากการ “เช็กเรตติ้ง” หยั่งกระแสบางอย่างไปพร้อมๆ กัน
หากย้อนดูแบ็กกราวด์ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากรับรู้กันดีว่าเป็นบ้านเกิดของ นายทักษิณ ชินวัตร แล้วยังเปรียบเป็นเมืองหลวงทางการเมืองของพวกเขา ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเรื่อยมา เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งก่อนหน้านี้ ก็ชนะแบบผูกขาดมาตลอด แม้กระทั่งในยุคของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านั้น กระทั่งมาจนถึงการเลือกตั้งคราวที่แล้วเท่านั้น ที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ให้กับพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ที่ได้ ส.ส.แค่ 2 เขตเท่านั้น จากจำนวน 10 ที่นั่ง เรียกว่าแพ้หลุดลุ่ยแบบเสียฟอร์มมากที่สุดสำหรับเขา รวมไปถึงสูญเสียที่นั่งในอีกหลายจังหวัด ในภาคเหนือ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามรูปการณ์ที่เรียกว่า “ถดถอย” นั้น ก็มีหลายองค์ประกอบ เช่น กรณีของมวลชนคนเสื้อแดง ที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลัก เป็นฐานการเมืองสำคัญมาช้านาน แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้นมีหลายคนที่ถูกดำเนินคดี ติดคุก จนไม่น้อยที่ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด หมดเนื้อหมดตัว แม้จะไม่อาจชี้ได้เต็มร้อยว่ามีสาเหตุมาจากนายทักษิณ แต่ก็มีหลายคนบ่นให้ได้ยินว่าถูกทอดทิ้งแบบไม่ใยดี ทั้งที่จะว่าไปแล้วพวกเขาสู้เพื่ออำนาจให้กับ ทักษิณ และครอบครัว บางคนถึงขนาดยอมตายแทนก็มี ซึ่งสะท้อนจากคำพูดตอนหนึ่งว่า “พี่น้องไม่ต้องตาผมมา ส่งผมขึ้นฝั่งแล้วให้กลับไป” อะไรทำนองนี้ ความหมายมันก็ชัดอยู่แล้ว ในช่วงหนึ่งที่เขาคิดว่า “ดีลลงตัว” กำลังได้กลับบ้านเมื่อหลายปีก่อน
อีกทั้งเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปด้วย ในช่วงสิบปีมานี้ หลังจากที่มีการรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอยู่ในอำนาจต่อเนื่องมานาน จนสามารถทำลายโครงสร้างอำนาจของ “ระบอบทักษิณ” ลงได้ไม่น้อย ประกอบกับ“คนเสื้อแดง” ที่ต้องแตกฉานซ่านเซ็น ต้องเอาตัวรอด แยกย้ายกันไป
แต่ที่ถือว่าสะเทือนหนักที่สุดก็คือ การเกิดขึ้นมาของพรรคก้าวไกล ที่มีแนวทางคนละทาง แม้ว่าจะขายในเรื่อง นโยบายเป็นหลัก ที่พรรคเพื่อไทยถูกมองว่าขายเรื่อง “ประชานิยม”เป็นหลัก แต่สำหรับก้าวไกลแล้วนอกจากมีเรื่องของประชานิยม ไม่ได้แตกต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องที่ทำให้เข้าใจว่า มี “อุดมการณ์” เข้ามาด้วย รวมทั้งรู้จักเล่นกับกระแสของคนรุ่นใหม่ จนสามารถครองใจเด็กๆ ที่ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองพวกนี้ แต่กลายเป็นหัวคะแนนธรรมชาติไปโดยปริยาย ประกอบกับการสร้างกระแส “ต้านเผด็จการ” ต้าน “สามป.” ได้อย่างเห็นภาพ
ผิดกับพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร ที่ถูกเยาะเย้ยว่า “สู้ไปกราบไป” จนสุดท้ายก็สู้ไม่ได้ แม้ว่าดัน “ลูกสาวคนเล็ก” มาสร้างกระแสคนรุ่นใหม่ และคนในครอบครัวสายตรง ก็ยังเอาไม่อยู่ ต้องพ่ายยับเยิน เป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกของพรรคการเมืองของครอบครัวนี้
และสุดท้ายเป็นสาเหตุสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การที่ทำตัวเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ที่ถูกมองว่าเป็นการย่ำยีกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้เสียป่นปี้ จากการไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยข้ออ้างเรื่องป่วยขั้นวิกฤต แม้ว่าตัวเองอาจภูมิใจลึกๆ ได้ว่า “ตัวเองเหนือกว่า”คนอื่น แต่ในทางสังคมทำให้เขาถูกมองในด้านลบ ซึ่งในทางตรงข้าม หากเขายอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “แบบผสมผสาน” เช่น เมื่อได้รับการลดโทษลงมาเหลือแค่ 1 ปี ก็ยอมติดคุกไปสักพัก แล้วเมื่อเข้าเกณฑ์ ก็จะได้รับการพักโทษกลับไปบ้านอย่างสง่างาม จะกลายเป็นการถูกพูดถึงแบบสดุดีมากกว่าหรือไม่ ในทางการเมืองน่าจะออกมาแบบฮีโร่ มากกว่า ดังนั้น เมื่อเขาเลือกหนทางแรก มันถึงได้ออกมาอย่างที่เห็น
เมื่อวกกลับมาที่จังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ที่เชื่อว่าคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เที่ยวนี้ “ไม่ปัง” อย่างที่คิด เพราะเทียบกับ ทักษิณคนเดิม เพราะขนาดจากบ้านเกิดไปนานเกือบสี่สิบปี กลับมาอีกครั้ง มันต้องมีคนแห่มาต้อนรับมืดฟ้ามัวดินแน่นอน แต่เท่าที่เห็นมีกันมาแบบ “หยอมแหยม” ไม่คึกคักเอาเสียเลย
มิหนำซ้ำอาจเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่ระหว่างนั้นมี “คนเสื้อแดงแบกโลงศพ” มาต้อนรับเสียด้วย ส่วนจะมองว่าจัดตั้งกันมา หรือแดงเทียม ก็ว่ากันไป แต่สำหรับนายทักษิณ รับรองว่าไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน เพราะต้องมีแต่คนมาห้อมล้อมแซ่ซ้องเท่านั้น
และเชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ย่อมรับรู้ได้เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่พูดถึงคนที่ไม่ชอบเขาว่า “ให้ต่างคนต่างอยู่” มันก็สะท้อนความรู้สึกออกมาได้ชัดที่สุด
“คำว่าดรามา ก็คือเรื่องไม่จริง “จบ โอเคไหมครับ” ส่วนการเดินทางมาเชียงใหม่ครั้งนี้ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอาการป่วย ผมมองว่าไม่เป็นไร ภาวะจิตใจคนสำคัญกว่า ถ้าภาวะจิตใจแย่ ก็อาจจะทำให้อย่างอื่นรวนตามไปได้”
ถามว่าตอนนี้สภาพจิตใจดีเกิน 100% หรือยัง นายทักษิณ ตอบว่า ใจมันดีเพราะมีลูกสาว มีลูกชายอยู่ใกล้ๆ และยังมีหลานๆ อีก 7 คน เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ของคนแก่ในวัย 75 ปี
“ยังไงก็โปรดเข้าใจและเห็นใจคนแก่ในวัย 75 ปีด้วย ที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปนาน วันนี้กลับมา ใครไม่ชอบหน้า ก็ต่างคนต่างอยู่ไป” นั่นเป็นคำพูดตอนหนึ่งของเขา ระหว่างที่มีมีการตั้งคำถามถึงเสียงวิจารณ์ และมีดรามามากมายระหว่างที่เขาอยู่ในโรงพยาบาล และถูกมองว่า “ป่วยทิพย์” เป็นต้น
เมื่อสะท้อนภาพจากความเป็นจริงที่เห็น แม้ว่าบรรยากาศทั่วไประหว่างที่ นายทักษิณ ชินวัตร กลับไปเยือนบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับครอบครัว โดยรวมๆแล้ว ก็ยังถือว่าคึกคัก แสดงให้เห็นว่ายังมีบารมี เพราะมีสส.ของพรรคเพื่อไทย บรรดารัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูงต่างรุมกันไปต้อนรับแบบพินอบพิเทา ต่างต้องการเสนอหน้าให้เขาได้เห็น ยังแสดงให้เห็นถึง “บารมี” แต่สำหรับ นายทักษิณ คนเดิม มันต้องอลังการ มากกว่านี้หลายเท่า ก็เหมือนกับที่ว่า “ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว” อาจเป็นเพราะเขาแก่แล้ว ผ่านยุคของเขาไปแล้วหรือเปล่า เพราะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศในช่วงเดียวกันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปดับไฟป่าที่เชียงใหม่ ไม่ต่างกับการ “แย่งซีน” เบนความสนใจได้ไม่น้อย ไม่ต่างกับการจงใจ
ดังนั้น ด้วยปัจจัยหลายอย่างเท่าที่เห็น มันพอสรุปได้ชัดเจนเลยว่า การกลับบ้านเกิดของนายทักษิณ ชินวัตร เที่ยวนี้ ไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างดูถดถอยลงไปมาก ไม่ปังอย่างที่คาด แน่นอนว่า ระดับคนอย่างเขาย่อมรับรู้ได้ดีอยู่แล้ว แต่หากคิดจะแก้เกมนับจากนี้ มันก็น่าจะเหนื่อยหนัก หากคิดว่าจะกลับมาที่เดิม !!