xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภมาส” ชื่นชม “DentiiScan” เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติกะโหลกศีรษะและช่องปาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เยี่ยมชมผลงานวิจัยโครงการ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย : DentiiScan” ของ A-MED/NECTEC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และผู้อำนวยการโครงการ ศ.ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.)
และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้การต้อนรับ ณ อาคารต้นแบบของเนคเทค (NECTEC Pilot Plant) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567

โดยเมื่อ รมว.อว. เดินทางไปถึง ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส และผู้อำนวยการโครงการและ ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี หัวหน้าคณะนักวิจัย ร่วมกันนำเสนอข้อมูลว่า DentiiScan (เดนตีสแกน) เป็นผลงานการคิดค้นและผลิตขึ้นมาโดยนักวิจัยไทย ใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพ 3 มิติของกะโหลกศีรษะและช่องปาก เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมและสุขภาพช่องปาก รวมทั้งการผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โดยในการทำงานนั้น ผู้ป่วยจะยืนนิ่งอยู่กับที่เพื่อให้ศีรษะของตนอยู่ที่ตำแหน่งกลางระหว่างแหล่งกำเนิดและหน่วยตรวจรับรังสีเอกซ์ ซึ่งจะหมุนรอบศีรษะผู้ป่วย 1 รอบ จากนั้น อัลกอริทึมในคอมพิวเตอร์จะนำภาพที่บันทึกไว้ทุกองศาไปคำนวณเพื่อแสดงภาพ 3 มิติของผู้ป่วย เนื่องจากรังสีเอกซ์ซึ่งออกจากแหล่งกำเนิดจะพุ่งเป็นกรวย (Cone Beam) ครอบคลุมศีรษะไปยังหน่วยรับรังสี เทคโนโลยีนี้จึงได้ชื่อว่าลำรังสีทรงกรวย ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับรังสีน้อยมาก ต่ำกว่าเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ทั่วไปถึง 10 เท่า

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวต่อว่า ในปี 2566 ได้มีการผลิตรุ่นใหม่ล่าสุดในชื่อ DentiiScan Trio (เดนตีสแกน รุ่นทรีโอ) ซึ่งสามารถทำงานได้ 3 หน้าที่ โดยนอกเหนือจากทำหน้าที่ถ่ายภาพ 3 มิติและ 2 มิติแล้ว ยังให้ภาพเซฟฟาโลเมตริก (Cephalometric Image) ซึ่งเป็นภาพถ่ายรังสีกะโหลกศีรษะใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยและวางแผนการจัดฟันได้อีกด้วย

“นอกจากเครื่อง DentiiScan แล้วคณะนักวิจัยยังได้คิดค้นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติแบบเคลื่อนย้ายได้เรียกว่า MobiiScan (โมบีสแกน) และเครื่องขนาดเล็กไว้ตรวจหาตำแหน่งหินปูนจากก้อนเนื้อที่ตัดออกมาจากเต้านมเรียกว่า MiniiScan (มินีสแกน) ในยุคดิจิทัลและคลาวด์เป็นที่นิยมแพร่หลายนั้นก็ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยวางแผนการฝังรากฟันเทียมชื่อ DentiPlan (เดนตีแพลน) และซอฟต์แวร์แสดงภาพชื่อ RadiiView (เรดีวิว) ผ่านระบบคลาวด์บนมือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ให้ทันตแพทย์และแพทย์ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งหากต้องการก็สามารถปรึกษาทางไกลระหว่างผู้เชี่ยวชาญได้อีกด้วย” ศ.ดร.ไพรัช กล่าว

จากนั้น น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ขอชื่นชมคณะนักวิจัยไทยที่ได้คิดค้นและผลิต DentiiScan นี้ขึ้นมาเพื่อคนไทย ซึ่งปัจจุบัน DentiiScan และห้องประกอบ DentiiScan ได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ที่สำคัญได้ถูกนำใช้งานในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 35,000 คน ทั้งหมดนี้ยืนยันได้ว่า นักวิจัยของไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และสอดรับกับนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ของกระทรวง อว. ตนพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้วงการวิทยาศาสตร์และวิจัยของไทยก้าวไปสู่ระดับโลก เพื่อการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น